ไขข้อสงสัย สารให้ความหวานอันตรายหรือไม่

วันที่เผยแพร่: 
Wed 31 May 2023

       ในยุคที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพ น้ำอัดลมที่เชื่อว่าเป็นสาเหตุของโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จึงถูกปรับให้ดูอันตรายน้อยลง เช่น การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลหรือน้ำตาลเทียม ซึ่งจะช่วยลดปริมาณแคลอรี่ที่ได้รับให้น้อยลงหรือปราศจากแคลอรี่ รวมถึงการเติมวิตามินแร่ธาตุต่าง ๆ เป็นหนึ่งในส่วนประกอบ ทว่าการใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลนั้นปลอดภัยจริงหรือ นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไรต่อน้ำอัดลมธรรมดากับน้ำอัดลมที่ใช้น้ำตาลเทียมกันแน่
"สารให้ความหวานแทนน้ำตาล" คืออะไร
      สารให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือ Sweetener เป็นวัตถุเจือปนอาหารชนิดหนึ่งที่ใช้เพิ่มความหวานให้กับอาหารและเครื่องดื่มแทนน้ำตาล มีทั้งแบบให้พลังงานและไม่ให้พลังงาน โดยมักจะนิยมใช้ในผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลและพลังงาน อย่างผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก ขณะเดียวกัน สารให้ความหวานส่วนใหญ่มักใช้ในปริมาณที่เล็กน้อยเนื่องจากให้ความหวานกว่าน้ำตาลหลายเท่าและยังช่วยลดพลังงานที่ได้รับเข้าสู่ร่างกายอีกด้วย

สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มีแบบไหนบ้าง
1.สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน ได้แก่ ฟรุกโทส (น้ำตาลจากผลไม้) มอลทิทอล ซอร์บิทอล และ ไซลิทอล สารให้ความหวานกลุ่มนี้ ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการ ควบคุมน้ำหนัก และ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
2.สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน หรือให้พลังงานต่ำ ได้แก่ ซูคราโลส สตีเวีย (สารสกัดจากหญ้าหวาน) แอสปาแตม อะซิซัลเฟม-เค และ แซคคารีน (ขัณฑสกร) สารให้ความหวานกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก และ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน

ผลเสียของ “สารให้ความหวานแทนน้ำตาล”
-ในกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ เช่น ซอร์บิทอล แมนนิทอล เป็นชนิดน้ำตาลที่ไม่สามารถย่อยได้หมด อาจเกิดอาการมวลท้อง ท้องอืด และท้องเสียได้
-การบริโภคสารให้ความหวานเป็นประจำ อาจจะทำให้เรารู้สึกติดรสหวานได้ ทำให้ไม่สามารถควบคุมอาหารการกินได้อย่างเต็มที่
-ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่เป็นไมเกรน ผู้ป่วยโรคลมชัก และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
-ในงานวิจัยของสมาคมหัวใจอเมริกัน พบว่า การรับประทานสารให้ความหวานแทนน้ำตาลแบบสังเคราะห์ เพิ่มความเสี่ยงกับการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง และความจำเสื่อม
-น้ำตาลเทียมบางชนิด หากบริโภคมากเกินไป อาจพบผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ, คลื่นไส้ วิงเวียน บางชนิดกระตุ้นการเกิดกรดในกระเพาะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะได้

คำแนะนำในการบริโภคน้ำตาล 
-ควรบริโภคน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชา/วัน
-แม้น้ำผึ้งจะเป็นน้ำตาลที่พบในธรรมชาติ แต่หากบริโภคมากเกินไป จะทำให้ค่าไขมันไตรกลีซอไรด์สูงได้ เนื่องจากมีส่วนประกอบ ของน้ำตาลกลูโคสและฟรักโทส
-สตีวีโอไซด์ (หญ้าหวาน) เป็นสารให้ความหวานที่ปลอดภัย ต่อผู้บริโภค ควรบริโภคไม่เกิน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

แหล่งที่มา
https://www.scimath.org/article-chemistry/item/9838-2019-02-22-01-23-21
https://www.pobpad.com/

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88
Hits 250 ครั้ง