โรคติดต่อที่พบบ่อย ในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด

1. โรคผิวหนัง ที่พบบ่อย ได้แก่ โรคนํ้ากัดเท้า โรคผิวหนังจากเชื้อรา แผลพุพองเป็นหนอง เป็นต้น ซึ่งเกิดจากการยํ่านํ้าหรือแช่นํ้าที่มีเชื้อโรค หรือความอับชื้นจากเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาด ไม่แห้งเป็นเวลานาน
อาการ
ในระยะแรกอาจมีอาการเท้าเปื่อย และเป็นหนอง ต่อมาเริมมีอาการคันตามซอกนิ้วเท้าและผิวหนังลอกออกเป็นขุย มีผื่น
ระยะหลังๆ ผิวหนังที่เท้าเกิดพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตกอาจเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ผิวหนังอักเสบได้
การดูแลตนเองเบื้องต้น
ควรหลีกเลี่ยงการยํ่านํ้าโดยไม่จําเป็น
ถ้าจําเป็นต้องยํ่านํ้า ควรใส่รองเท้าบู๊ทกันนํ้า และควรล้างเท้าให้สะอาดด้วยนํ้าสบู่ และเช็ดให้แห้งเมื่อกลับเข้าบ้าน
สวมใส่ถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้าที่สะอาดไม่เปียกชื้น
หลังยํ่านํ้าใช้นํ้าสะอาดใส่ถัง เกลือแกง 1 - 2 ช้อนชา แช่เท้า 10 นาที เช็ดให้แห้ง และหากมีอาการเท้าเปื่อย คัน ให้ทายารักษาตามอาการ
หากมีบาดแผล ควรใช้แอลกอฮอล์เช็ดแผล แล้วทาด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน

2. โรคตาแดง เป็นโรคที่ติดต่อได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง เพราะส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็น อาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้
การติดต่อ
จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับนํ้าตา ขี้ตา นํ้ามูกของผู้ป่วย
จากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว หรือจากแมลงวัน แมลงหวี่ที่มาตอมตา เป็นต้น
อาการ
หลังได้รับเชื้อประมาณ 1 - 2 วัน จะเริมมีอาการระคายเคืองตา ปวดตา นํ้าตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หลังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง โดยอาจเริ่มที่ตาข้างหนึ่งก่อน แล้วจึงลามไปตาอีกข้าง
ผู้ป่วยมักหายได้เองภายใน 1 - 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ดูแลรักษาให้ถูกวิธีอาจเกิดอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดําอักเสบ ทําให้ปวดตา ตามัว
การดูแลตนเองเบื้องต้น
เมื่อมีฝุ่นละอองหรือนํ้าสกปรกเข้าตาควรรีบล้างตาด้วยนํ้าสะอาดทันที
เมื่อมีอาการของโรค ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตาหรือยาป้ายตาป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยใช้ติดต่อกันประมาณ 7 วัน หากมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้แก้ปวดตามอาการ
หมั่นล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่บ่อยๆ
ไม่ควรขยี้ตา อย่าให้แมลงตอมตา และไม่ควรใช้สายตามากนัก
ผู้ป่วยควรนอนแยกจากคนอื่นๆ และไม่ใช้สิ่งของต่างๆ ร่วมกัน และไม่ควรไปในที่มีคนมาก เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด
ถ้ามีอาการปวดตารุนแรง ตาพร่ามัว หรืออาการไม่ทุเลา ภายใน 1 สัปดาห์ ต้องรีบพบแพทย์อีกครั้ง

3. โรคระบบทางเดินหายใจ
ไข้หวัด เป็นโรคที่ติดต่อไม่อันตรายเกิดจากเชื้อไวรัส ก่อโรคในบุคคลทุกเพศทุกวัยพบได้บ่อยในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยเชื้อโรคแพร่กระจายมาจากนํ้ามูก นํ้าลายเสมหะ หรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย
อาการ
มักมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้เล็กน้อย คัดจมูก มีนํ้ามูกใสๆ ไอ จาม ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร มักหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส ทําให้เกิดโรคได้ในคนทุกเพศทุกวัย เชื้อจะแพร่กระจายอยู่ในลมหายใจ เสมหะ นํ้าลาย นํ้ามูก และสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย จึงมีโอกาสติดต่อกันได้ง่าย
อาการ
มักมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวมาก มีนํ้ามูกไหล คัดจมูก ไอ จาม เจ็บคอ เบื่ออาหาร และอ่อนเพลีย
การดูแลตนเองเบื้องต้น

ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปาก และจมูกเวลาไอ จาม หรือควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่บุคคลอื่น
ใช้ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษนุ่มสะอาด เช็ดนํ้ามูก และไม่ควรสั่งนํ้ามูกแรงๆ เพราะอาจทําให้เกิดหูอักเสบได้
กินอาหารที่อ่อนย่อยง่าย กินผักและผลไม้ ดื่มนํ้าอุ่น จํานวนมากขึ้น
อาบนํ้าหรือเช็ดตัวด้วยนํ้าอุ่น แล้วเช็ดตัวให้แห้งทันที
เมื่อไข้สูง หรือเป็นไข้นานเกิน 7 วัน เจ็บคอ ไอมาก เจ็บหน้าอก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรไปพบหรือปรึกษาแพทย์
โรคปอดบวม เกิดจากเชื้อได้หลายชนิด เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือสําลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอด ทําให้มีการอักเสบของปอด ผู้ประสบภัยนํ้าท่วม หากมีการสําลักนํ้า หรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าไปในปอด ก็มีโอกาสเป็นโรคปอดบวมได้
การติดต่อ
ติดต่อโดยการหายใจเอาเชื้อโรคในอากาศเข้าไป หรือจากการคลุกคลีกับผู้ป่วยเมื่อ ไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือในผู้ที่มีภูมิต้านทานตํ่า อ่อนแอ พิการ มักพบเกิดจากการสําลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่ปกติในจมูก และลําคอเข้าไปในปอด
อาการ
มีไข้สูง ไอมาก หายใจหอบและเร็ว ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบเหนื่อยจนเห็นชายโครงบุ๋ม เล็บมือ เล็บเท้า ริมฝีปากซีด หรือเขียวคลํ้า กระสับกระส่าย หรือซึม เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคปอดบวม ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะมีโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม เช่น นํ้าในช่องเยื่อหุ้มปอด หนองในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแตก และมีลมรั่วในช่องปอด หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบในผู้ป่วยมีโรคหัวใจอยู่ก่อนอาจหัวใจวาย และเสียชีวิตได้
การดูแลตนเองเบื้องต้น
ต้องรีบพบแพทย์ และรับการรักษาในโรงพยาบาล
ผู้ป่วยควรใช้ผ้าปิดปาก และจมูกเวลาไอ จาม หรือใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น
หากมีไข้ ให้กินยาลดไข้ และใช้ผ้าชุบนํ้าเช็ดตัวเพื่อลดไข้
กินอาหารที่อ่อนย่อยง่าย กินผักและผลไม้ ดื่มนํ้าอุ่นจํานวนมากขึ้น
ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่เปียกชื้น และรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ

4. โรคหัด เป็นโรคไข้ออกผื่นที่พบบ่อยในเด็กเล็กเกิดจากเชื้อไวรัส มักพบในช่วงฤดูฝน เป็นโรคที่สําคัญเนื่องจากอาจมีโรคแทรกซ้อนทําให้เสียชีวิตได้
การติดต่อ
ติดต่อกันได้ง่ายมาก โดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด
ระยะติดต่อ 2 - 4 วันก่อนเกิดผื่น และหลังเกิดผื่นแล้ว 2 - 5 วัน
เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ นํ้ามูก นํ้าลายของผู้ป่วย และเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ
อาการ
หลังได้รับเชื้อประมาณ 8 - 12 วัน จะเริ่มมีอาการไข้ นํ้ามูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ ตรวจพบจุดขาวๆ เล็กๆ ขอบแดง ในกระพุ้งแก้ม
ในช่วง 1 - 2 วันแรกไข้จะสูงขึ้น และจะสูงเต็มที่ในวันที่ 4 เมื่อมีผื่นขึ้น
ผื่นมีลักษณะนูนแดง ติดกันเป็นปื้นๆ โดยจะขึ้นที่ใบหน้า บริเวณชิดขอบผม แล้วแพร่กระจายไปตามลําตัว แขน และขา
ต่อมาไข้จะเริมลดลง ผื่นจะมีสีเข้มขึ้นแล้วค่อยๆ จางหายไป ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ในเด็กที่มีภาวะโภชนาการไม่ดี หรือในเด็กเล็ก อาจมีโรคแทรกซ้อน เช่น หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือสมองอักเสบ และอาจเสียชีวิตได้ง่ายกว่าเด็กปกติที่มีสุขภาพแข็งแรง
การดูแลรักษา
ให้การรักษาตามอาการ ถ้าไข้สูงมากควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวร่วมกับการเช็ดตัว ไม่จําเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะ ยกเว้นกรณีที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดอักเสบ หูอักเสบ เป็นต้น
แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัด
ให้รับประทานอาหารอ่อนที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน
ถ้ามีผื่นออกแล้วยังมีไข้สูง หรือมีไข้ลดลงสลับกับไข้สูง ไอมาก หรือหอบ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
การดูแลตนเองเบื้องต้น
หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย
รักษาสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางอาหาร และออกกําลังกายเป็นประจํา เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค
เด็กทารกมีภูมิต้านทานเชื้อโรคน้อย ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยเฉพาะในช่วง 1 ถึง 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด นํ้านมแม่จะอุดมไปด้วยภูมิต้านทานต่อโรคต่าง ๆ
วิธีป้องกันที่ดีที่สุด คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด

5. โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลําไส้หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในเด็กทารก และเด็กเล็กอายุตํ่ากว่า 5 ปี ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก สถานที่เล่นของเด็กในห้างสรรพสินค้าโดยเฉพาะในที่อยู่รวมกันอย่างแออัด จะมีโอกาสที่เกิดการระบาดได้ง่ายโรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในฤดูฝน ซึ่งอากาศเย็นและชื้น
การติดต่อ
ส่วนใหญ่เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนนํ้าลาย นํ้ามูก นํ้าจากตุ่มพองและแผล หรืออุจจาระของผู้ป่วย และเกิดจากการไอจามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย สําหรับการติดเชื้อจากอุจจาระ จะเกิดได้ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาจนกระทั่งหายป่วยแล้ว ประมาณ 1 เดือน แต่จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

อาการของโรค
หลังจากได้รับเชื้อ 3 - 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วยด้วยมีไข้ตํ่าๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนนํ้าลายไม่ได้ และไม่ยอมกินอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดงเล็ก (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ อักเสบและแดง ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติ ภายใน 7 - 10 วัน

การดูแลตนเองเบื้องต้น

โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวดในรายมีแผลที่ลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูเด็ก ควรเช็ดตัวเด็กเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อน ๆ รสไม่จัด ดื่มนํ้าและนํ้าผลไม้ นอนพักผ่อนมาก ๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด
ตามปกติ โรคมักไม่รุนแรงและไม่มีอาการแทรกซ้อน แต่เชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอนเทอโรไวรัส 71 อาจทําให้มีอาการรุนแรงได้ จึงควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด หากพบมีไข้สูง ซึม ไม่ยอมกินอาหารหรือดื่มนํ้า อาเจียนบ่อย หอบ แขนขาอ่อนแรง ชัก ต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือนํ้าท่วมปอด ซึ่งจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

6. โรคอุจจาระร่วง การติดต่อเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหารหรือดื่มนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไป เช่น อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารที่ทิ้งค้างคืนโดยไม่ได้ แช่เย็น และไม่ได้อุ่นให้สุกอย่างทั่วถึงก่อนนําไปกิน
อาการ
ผู้ป่วยมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือถ่ายเป็นนํ้าอย่าง น้อย 1 ครั้ง หรือถ่ายมีมูกเลือดหรือมูกปนเลือด อาจมีอาเจียนร่วมด้วยหากมีอาการรุนแรงโดยถ่ายเป็นนํ้าคล้ายนํ้าซาวข้าว คราวละมากๆ
การดูแลตนเองเบื้องต้น
หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมแม่ ให้ดื่มนมต่อได้ตามปกติพร้อมป้อนสารละลายนํ้าตาลเกลือแร่บ่อยๆ
หากผู้ป่วยเป็นเด็กที่ดื่มนมผงชง ให้ผสมนมจางลงครึ่งหนึ่งของที่เคยดื่ม และให้ดื่มสารละลายนํ้าตาลเกลือแร่สลับกันไป
ไม่ควรกินยาเพื่อให้หยุดถ่าย เพราะจะทําให้เชื้อโรคค้างอยู่ในร่างกาย ซึ่งจะเป็นอันตรายมากขึ้น
ให้ผู้ป่วยดื่มนํ้าหรืออาหารเหลวมากๆ ให้ดื่มสารละลายนํ้าตาลเกลือแร่ (โอ อาร์ เอส) ผสมนํ้าตามสัดส่วนที่ระบุข้างซองหรือเตรียมสารละลายเกลือแร่เอง โดยผสมนํ้าตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ กับเกลือป่นครึ่งช้อนชา ละลายในนํ้าต้มสุกที่เย็นแล้ว 1 ขวด กลม หรือ 750 ซีซี ให้ผู้ป่วยดื่มบ่อยๆ ทดแทนนํ้าและเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการขับถ่าย หากดื่มไม่หมดใน 1 วัน ให้เททิ้ง
ล้างมือให้สะอาดด้วยนํ้าสะอาดและสบู่ทุกครั้ง ก่อนเตรียมและปรุงอาหาร ก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย
ดื่มนํ้าที่สะอาด เลือกกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ๆ หรืออุ่นให้ร้อน และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
กําจัดสิ่งปฏิกูล ขยะมูลฝอยเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน
อาหารและภาชนะที่ใช้ควรทําความสะอาดและเก็บไว้ในที่แมลง สัตว์นําโรคเข้าไม่ถึง
หากมีอาการมากขึ้น เช่น อาเจียนมาก ไข้สูง ชักหรือซึมมาก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

7. โรคฉี่หนู โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์มาสู่คน โดยเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู หมู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนในแม่นํ้า ลําคลอง พื้นที่ที่มีนํ้าขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคฉี่หนู ได้แก่ ผู้ที่ลุยนํ้าหรือแช่นํ้านานๆ ผู้ที่เดินลุยนํ้าท่วม คนงานบ่อปลา ชาวสวน ชาวนา คนงานขุดลอกท่อระบายนํ้า
การติดต่อ
เชื้อโรคฉี่หนูในสิ่งแวดล้อมจะเข้าสู่ร่างกายได้โดยการไชเข้าทางบาดแผลหรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา ขณะที่แช่นํ้า กินอาหารหรือนํ้าที่ปนเปื้อนเชื้อโรคฉี่หนู
อาการ
มักเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อ 2 – 10 วัน โดยเริ่มมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ต่อมาอาจมีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินหากมีอาการที่กล่าวมาหลังจากไปแช่นํ้า ยํ่าโคลนมา 2 - 26 วัน (เฉลี่ย 10 วัน) ควรนึกถึงโรคนี้ ไม่ควรหายามากินเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยแพทย์ที่ออกมาให้บริการในพื้นที่ ถ้าไม่รีบรักษาบางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปนหรือตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้
การดูแลตนเองเบื้องต้น
หลีกเลี่ยงการแช่นํ้า ยํ่าโคลนนานๆ
เมื่อขึ้นจากนํ้าแล้ว ต้องรีบอาบนํ้าชําระร่างกายให้สะอาดซับให้แห้งโดยเร็วที่สุด
ควรสวมรองเท้าหรือรองเท้าบู๊ทที่เหมาะสม สามารถป้องกันเชื้อโรคที่อยู่นํ้าได้
หากต้องลุยนํ้า ยํ่าโคลน เดินบนที่ชื้นแฉะ โดยเฉพาะถ้ามี บาดแผล
ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
กินอาหารที่สะอาด และเก็บอาหารในภาชนะที่มิดชิด
เก็บกวาดขยะใส่ถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่น ไม่ให้เป็นแหล่งอาหารของหนู
ดูแลที่พักให้สะอาดไม่ให้เป็นที่อาศัยของหนู

8. โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบได้ทั้งในคน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น แพะ แกะ หมู โค กระบือ โรคนี้พบได้มากในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือ โดยเฉพาะในประเทศไทย มีผู้ป่วย 2,000 - 3,000 รายต่อปี อุบัติการณ์ของโรคมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉลี่ย4.4 ต่อ 100,000 คนพบผู้ป่วยมากในฤดูฝน
อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ไม่มีอาการจําเพาะ หรืออาจไม่มีอาการทางคลินิก จนถึงมีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอดตับ หรือม้าม และหรือมีการติดเชื้อทางกระแสโลหิตอย่างรวดเร็ว พบมีอาการของโรคกลับซํ้าได้บ่อยในกรณีที่ให้ยาปฏิชีวนะไม่นานพอ
การดูแลตนเองเบื้องต้น
ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
คนที่มีอาการของโรคเบาหวาน และแผลบาดเจ็บรุนแรงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและนํ้า เช่นในไร่นาในพื้นที่เกิดโรคประจํา
ในพื้นที่ที่เกิดโรคประจํา หากมีแผลถลอก หรือไหม้ ซึ่งสัมผัสกับดินหรือนํ้า ควรทําความสะอาดทันที
9. โรคไข้เลือดออก เป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ ยุงลายอาศัยอยู่ในบ้านและบริเวณรอบ ๆ บ้าน มักกัดคนในเวลากลางวัน พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกได้ทุกวัย และทุกภาคของประเทศไทย
อาการ
ไข้สูงลอย (ไข้สูงตลอดทั้งวัน) ประมาณ 2 - 7 วัน
ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง อาจมีจุดแดงเล็กๆ ตามลําตัว แขน ขา
มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร
ต่อมาไข้จะเริ่มลง ในระยะนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจเกิด อาการรุนแรง โดยผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย มือเท้าเย็น หรือมีเลือดออกผิดปกติ เช่น ถ่ายดํา หรือไอปนเลือด อาจมีภาวะช็อค และเสียชีวิตได้
การดูแลตนเองเบื้องต้น
ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที
ใช้ผ้าชุบนํ้าเช็ดตัวลดไข้ กินยาลดไข้พาราเซตามอลห้ามใช้ยาแอสไพริน เพราะจะทําให้เลือดออกง่ายขึ้น
ให้ดื่มนํ้าผลไม้ หรือนํ้าตาลเกลือแร่บ่อยๆ
ระวังอย่าให้ยุงกัดในเวลากลางวัน โดยการนอนในมุ้งหรือทายากันยุง
กําจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกนํ้ายุงลายทุกสัปดาห์ โดยปิดฝาภาชนะเก็บนํ้าให้สนิท ทําลายเศษวัสดุ เศษภาชนะ หรือควํ่าไว้เก็บยางรถยนต์เก่าอย่าให้มีนํ้าขัง

10. โรคมาลาเรีย เป็นโรคติดต่อที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ยุงก้นปล่องอาศัยอยู่ในป่าเขาบริเวณที่มีแหล่งนํ้าจืดธรรมชาติ มักกัดคนในเวลากลางคืน
อาการ
หลังได้รับเชื้อ 7 - 10 วัน จะมีอาการไข้ ปวดศีรษะ บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัด
ในระยะแรกอาจมีไข้สูงตลอดได้ บางรายมีอาการหนาวสั่นหรือเป็นไข้จับสั่น ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้
การดูแลตนเองเบื้้องต้น
ควรนอนในมุ้ง ทายากันยุง
สวมใส่เสื้อผ้าปกคลุมร่างกายให้มิดชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดเมื่อเข้าป่า
ถ้าพบว่ามีอาการเจ็บป่วยดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

วันที่: 
Mon 27 September 2021
แหล่งที่มา: 
https://www.bangpakokhospital.com/care_blog/content/โรคติดต่อที่พบบ่อย%20ในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำลด
Hits 1,308 ครั้ง