5 อาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตสูง

วันที่เผยแพร่: 
Wed 23 March 2022

   ความดันโลหิต เป็นแรงที่เลือดกระทำกับผนังหลอดเลือด ซึ่งขึ้นจากความต้านทานของหลอดเลือดและการทำงานของหัวใจ โดยทั่วไปแล้ว ค่าความดันโลหิตของคนปกติจะอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีค่าตั้งแต่ 140/90 mmHg ขึ้นไป โดยผู้สูงอายุจะมีโอกาสเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้มากกว่าผู้ที่มีอายุน้อย แต่ปัจจุบันด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ความเครียดและอาหารก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงได้ และหากมีภาวะความดันโลหิตสูง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจล้มเหลว โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดโป่งพอง

1. อาหารที่มีธาตุโพแทสเซียมสูง
การบริโภคโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไปนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูปในปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของโซเดียมอยู่มาก แต่โพแทสเซียมจะช่วยให้ร่างกายสามารถกำจัดโซเดียมออกไปทางปัสสาวะได้ ยิ่งรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมมากเท่าไร โซเดียมก็จะถูกขับออกไปทางปัสสาวะมากเท่านั้น เนื่องจากโพแทสเซียมและโซเดียมมีความคล้ายคลึงกันทางเคมี เมื่อเราบริโภคโพแทสเซียมเข้าไป โซเดียมจะถูกลำเลียงออกจากเซลล์และโพแทสเซียมจะเข้าสู่เซลล์แทนนั่นเอง

2. ผลไม้ประเภทเบอร์รี่
เบอร์รี่เป็นผลไม้ที่มีรสชาติเด่นชัด และมีคุณประโยชน์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิตามินหรือแร่ธาตุที่จะช่วยให้ร่างกายของเราทำงานได้อย่างสมดุล แต่นอกจากนี้มันยังอัดแน่นไปด้วยสารพอลิฟีนอลซึ่งเป็นสารประกอบจากพืช ที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ต้านมะเร็ง และลดความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีพอลิฟีนอลต่ำ พอลิฟีนอลจึงมีความสัมพันธ์กับความดันโลหิต

3. ดาร์กช็อกโกแลตหรือโกโก้
การรับประทานดาร์กช็อกโกแลตหรือโกโก้ในปริมาณมากอาจจะไม่ได้มีส่วนช่วยให้หัวใจทำงานได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากเป็นดาร์กช็อกโกแลตในปริมาณน้อย ๆ หรือประมาณ 30-60 กรัมต่อวัน พบว่า จะช่วยให้หัวใจและหลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น เนื่องจากดาร์กช็อกโกแลตและผงโกโก้นั้นอุดมไปด้วยสารที่ชื่อว่า ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ซึ่งเป็นสารประกอบประเภทพอลิฟีนอลที่ได้จากพืช โดยฟลาโวนอยด์ในดาร์กช็อกโกแลตจะกระตุ้นการสร้างไนตริกออกไซด์ในร่างกาย และไนตริกออกไซด์นี้เองที่ทำให้หลอดเลือดขยายกว้างขึ้น เลือดจึงไหลเวียนได้สะดวก ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง ฟลาโวนอยด์ในระดับที่สูงยังมีประสิทธิภาพเป็นแอนติออกซิแดนต์ ช่วยป้องกันเซลล์และเนื้อเยื่อจากการถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระด้วย

4. อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม
จริง ๆ แล้วยังไม่มีงานวิจัยที่มากพอจะสรุปได้ว่า แคลเซียมมีส่วนช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ แต่อาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมก็มีความสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดี ในขณะที่งานวิจัยบางชิ้น พบว่า ผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ (ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยแคลเซียม) ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในกลุ่มผู้หญิงอายุเกิน 45 ปี จำนวนเกือบ 30,000 คน งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ดื่มนมพร่องมันเนยวันละ 2 มื้อขึ้นไป (หรือบริโภคผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำอื่น ๆ ) ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ไม่ได้บริโภคผลิตภัณฑ์จากนมบ่อยนัก

5. อาหารที่มีแมกนีเซียมสูง
แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่คาดว่าจะช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ โดยช่วยให้หลอดเลือดนั้นผ่อนคลาย แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานมากพอจะสรุปได้ว่าแมกนีเซียมช่วยลดความดันโลหิตสูงได้อย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับแคลเซียม เพียงแต่งานวิจัยบางชิ้นก็แสดงให้เห็นว่า การได้รับแมกนีเซียมในปริมาณที่น้อยเกินไปนั้นเชื่อมโยงกับความดันโลหิตสูง

แหล่งที่มา
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/88574/-scihea-sci-

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/5-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%87
Hits 605 ครั้ง