Cloud Computing คืออะไร?

วันที่เผยแพร่: 
Thu 5 August 2021

ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก กล่าวได้ว่าแทบจะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ อีกทั้งยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเราสามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว และรองรับการรับส่งข้อมูลปริมาณมาก ๆ อีกด้วย

ด้วยความสามารถของอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งข้อมูลและการประมวลผลต่าง ๆ ถูกทำงานโดยคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ ส่วนอุปกรณ์ในมือของเราทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ใช้งานเท่านั้น เราอาจเคยใช้งานเทคโนโลยีนี้โดยไม่รู้ตัว หรืออาจเคยได้ยินเทคโนโลยีนี้ในชื่อว่า “Cloud Computing”

Cloud Computing คืออะไร?

Cloud Computing คือ การเก็บและประมวลผลข้อมูลโดยใช้ระบบ ซอฟต์แวร์ หรือทรัพยากรอื่น ๆ จากเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ (Server) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผู้ใช้งานอาจมีบัญชีส่วนตัว (Account) ที่สมัครไว้กับผู้ให้บริการในการเลือกใช้ทรัพยากรต่าง ๆ หรือ อาจเข้าใช้งานในฐานะผู้ใช้งานทั่วไป (Guest) ก็ได้แต่อาจโดนจำกัดสิทธิ์บางอย่าง เช่น สามารถดูเอกสารได้อย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขได้ เป็นต้น

ทำไมต้อง Cloud Computing?

จะเห็นได้ว่า Cloud Computing ใช้วิธีการเก็บ ประมวลผล และการจัดสรรทรัพยากรให้ผู้ใช้งานจาก Server ซึ่งติดตั้งอยู่ตามที่ต่าง ๆ ผู้ให้บริการจะเชื่อมต่อ Server เข้าด้วยกัน และผู้ใช้งานเข้าใช้งานผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทำให้สามารถทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา อีกทั้งในบางระบบยังสามารถใช้งานได้หลายบุคคลในเวลาเดียวกัน (Shared services) มีโอกาสน้อยมากที่ข้อมูลจะสูญหาย ผู้ใช้งานไม่ต้องเสียเวลา หรือเสียทรัพยากรในการวางและดูแลระบบ ทำให้สะดวก รวดเร็ว ใช้งานง่าย และเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก

รูปแบบของ Cloud Computing

Cloud Computing สามารถแบ่งตามลักษณะการให้บริการได้ 3 รูปแบบหลัก ได้แก่

Software as a Service (SaaS)
การใช้เช่าหรือเข้าใช้งานโปรแกรมประยุกต์ (Application) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมลงเครื่อง หรือติดตั้งเพียงบางส่วน การให้บริการประเภทนี้ข้อมูลจะถูกส่งไปเก็บ และประมวลผลที่ Server ผู้ให้บริการเป็นหลัก เช่น การให้บริการแอปพลิเคชันของ google ไม่ว่าจะเป็น Sheet, Docs, Slide และ gmail เป็นต้น
Platform as a Service (PaaS)
การเช่าหรือเข้าใช้งานทรัพยากรที่ทางผู้ให้บริการจัดสรรไว้เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอีกที เนื่องจากการพัฒนาแอปพลิเคชันมีความซับซ้อนและต้องใช้ทรัพยากรหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฐานข้อมูล การเชื่อมต่อ หรือแม้กระทั่งการออกแบบหน้าตาที่ใช้โต้ตอบกับผู้ใช้งาน ผู้ให้บริการจึงสร้างเครื่องมือขึ้นมาสำหรับผู้พัฒนาเพื่อให้สามารถสร้างแอปพลิเคชันได้ง่ายขึ้น เช่น Google App Engine, Thunkable เป็นต้น
Infrastructure as a Service (IaaS)
เป็นการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของเครื่องคอมพิวเตอร์แก่ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยประมวลผล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล เครือข่าย ในรูปแบบระบบเสมือน (Virtualization) กล่าวคือผู้ให้บริการจะจำลองเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เราเลยนั่นเอง เช่น Microsoft Azure เป็นต้น
เราสามารถสรุปภาพรวมของการให้บริการ Cloud Computing ได้ตามรูปภาพด้านล่าง จะเห็นได้ว่ารูปแบบการให้บริการที่ครอบคลุมทรัพยากรมากที่สุดจะเป็นแบบ Software as a Service (SaaS) ที่เราคุ้นชินกันในชีวิตประจำวัน ซึ่งสะดวกและเข้าใจได้ง่าย แต่ก็จะถูกจำกัดฟังก์ชันการใช้งานจากผู้ให้บริการ ส่วนการให้บริการแบบ Infrastructure as a Service (IaaS) จะเป็นเพียงการจัดสรรทรัพยากรพื้นฐานมาให้ ผู้ใช้งานจะสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองได้และยืดหยุ่นกว่านั่นเอง

เทคโนโลยีการสื่อสารยังคงถูกพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เครื่องมือหรือนวัตกรรมต่าง ๆ จะถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ หากแต่ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จะไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยบุคลเฉพาะด้านเท่านั้น แต่จะถูกพัฒนาขึ้นจากผู้ใช้งานเอง เราจะสามารถทำงาน ติดต่อสื่อสาร หรือมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องพกเครื่องมือมากมายไว้กับตัว เสมือนว่าโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้ได้ถูกย่อส่วนลงมาให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นนั่นเอง

แหล่งที่มา https://www.nsm.or.th/other-service/666-online-science/knowledge-invento...

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/cloud-computing-%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3
Hits 1,916 ครั้ง