อันตรายจากการอดนอน

วันที่เผยแพร่: 
Wed 19 July 2023

  สำหรับใครที่ทำงานหักโหม จนลืมใส่ใจสุขภาพของตัวเอง เมื่อร่างกายแสดงอาการผิดปกติแล้ว จึงตระหนักคิดได้ว่า ว่าเราลืมให้ความสำคัญกับตัวเองหรือเปล่า สิ่งง่ายๆ ที่ทุกวันเราควรจะต้องทำ คือ “การนอน”  โดยปัญหาสุขภาพต่างๆ ที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากการ พักผ่อนไม่เพียงพอ ที่หลายๆ คนมักจะได้ยินเวลาไปพบคุณหมอ ที่จะกำชับให้ ใจกับการพักผ่อน วันนี้ทางเราจะพาไปดูผลกระทบที่เกิดการอดหลับอดนอนกัน....

ผลกระทบการอดนอน
- ทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย โดยทั่วไป หากร่างกายเรามีพลังงานอยู่เต็ม 100% จะเกิดการนำพลังงานมาใช้จริงเพียง 70% ส่วนอีก 30% ที่เหลือจะเป็นพลังงานสำรอง ที่ร่างกายจะนำมาใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ยามป่วยไข้ไม่สบาย รวมถึงภาวะที่ร่างกายอดนอน หากเปรียบเทียบการนอนเป็นการชาร์จแบตเตอรี่ การอดนอนก็คือการชาร์จแบตเตอรี่ไม่เต็ม 100% เมื่อ 70% ที่ร่างกายนำมาใช้ไม่เพียงพอ ก็จะดึงเอา 30% ที่เหลืออยู่มาใช้เรื่อยๆ เมื่อพลังงานในส่วนนี้ร่อยหรอลงไป ก็จะเกิดอาการอ่อนเพลีย และไม่สบายตามมา

- ทำให้เกิดโรคอ้วน การที่ร่างกายตื่นอยู่เป็นเวลานานแบบอดนอน ทำให้ร่างกายเกิดการเผาผลาญมากขึ้น เราจึงรู้สึกหิวและกินมากขึ้น เนื่องจากเกิดความผิดปกติของกระบวนการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดไม่เพียงพอ ซึ่งอาหารที่รับประทานกันในช่วงดึกๆ นั้นมักจะเป็นอาหารจำพวกขนมขบเคี้ยวที่ให้พลังงานสูง ผู้ที่นอนดึกหรืออดนอนจึงมักที่จะมีภาวะน้ำหนักเกินได้

- ทำให้ร่างกายไม่เจริญเติบโต โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เนื่องจากโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตถูกสร้างได้น้อยลง ร่างกายจึงไม่เจริญเติบโต นอกจากนี้การนอนดึกยังส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกรบกวน จึงเกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากอดนอนติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

- ทำให้กระบวนการเรียนรู้ช้าลง การอดนอนส่งผลต่อการทำงานของสมองในส่วนต่างๆ ให้ทำงานผิดเพี้ยนได้ เช่นสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) กลีบสมองบริเวณขมับ (Temporal Lobe) ทำให้การเรียนรู้จากคำพูดแย่ลง การเรียนรู้ด้านภาษาช้าลง เป็นต้น

- ทำให้เกิดอาการหลับใน เนื่องจากสมองส่วนธาลามัส (Thalamus) เกิดหยุดทำงานเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แบบชั่วคราว ทำให้เกิดอาการงีบหลับ ร่างกายไม่ตื่นตัว รับรู้ได้ช้าลง หรือไม่ตอบสนองต่อการรับรู้ใดๆ ซึ่งเป็นอันตรายมากสำหรับคนที่ขับรถ หรืออยู่ระหว่างการใช้เครื่องจักรกล อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงชีวิตได้

- ทำให้เกิดอาการทางจิต การอดนอนชนิดรุนแรงสามารถทำให้เกิดภาวะโรคทางจิตได้ เช่น อาการหูแว่ว ประสาทหลอน ระแวงกลัวคนมาทำร้าย มีอาการคล้ายคนที่มีภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เช่นร่าเริงกว่าปกติ หรือซึมเศร้าผิดปกติได้ นอกจากนี้ยังทำให้หงุดหงิดอารมณ์เสียง่ายได้อีกด้วย

แนวทางการรักษาเรื่องอดนอนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การนอนให้พอเพียง อาจจะใช้เวลานอนให้มากกว่าปกติในวันก่อนที่รู้ว่าจะต้องอดนอน และเมื่ออดนอนมาแล้วก็ควรหาเวลานอนชดใช้ให้มากพอ ภาวะอดนอนก็จะดีขึ้นได้เองโดยที่ไม่ต้องไปหาการรักษาที่ยุ่งยากอื่น

แหล่งที่มา
https://www.bangkokinternationalhospital.com/th/health-articles/disease-...
https://multimedia.anamai.moph.go.th/infographics/info540_sleep_6/

เผยแพร่ : ว่าที่ร้อยตรีณภัทร โพธิ์อยู่
(เจ้าหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์และประสานงานโครงการ)
สํานักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กองระบบและบริหารข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กรข.)
กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ (พร.)

Social Media
Facebook : stkcsociety
Youtube channel : STKC Society 
Tiktok : stkcsociety
Twitter : stkcsociety
instagram : stkcsociety

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%99
Hits 376 ครั้ง