เหตุผลที่ชอบกินแม้ในเวลาที่ไม่หิว

วันที่เผยแพร่: 
Mon 24 January 2022

    ผู้คนส่วนใหญ่ปฏิเสธอาหารจานหลักด้วยเหตุผลที่ว่า พวกเขาอิ่มแล้ว แต่สำหรับขนมขบเคี้ยวอย่างมันฝรั่งทอดกรอบ คุกกี้ หรือโดนัทสักชิ้น กลับไม่ปฏิเสธด้วยเหตุผลเดียวกัน นั่นอาจเป็นเพราะแรงขับที่ตอบสนองต่อความหิวโหย และความต้องการอาหารที่มีไขมัน (Fatty food) ถูกควบคุมด้วยวงจรของสมองที่แตกต่างกัน

   การรับประทานอาหารตามปกติหรือที่เรียกว่า Homeostatic feeding เป็นการรับประทานอาหารโดยแรงขับเคลื่อนจากความหิวที่เกิดจากการควบคุมโดยฮอร์โมน ทั้งนี้แรงกระตุ้นต่อการรับประทานอาหารจะจบลงเมื่อสมองรับรู้ถึงระดับพลังงานที่ร่างกายได้รับจากอาหารเพียงพอแล้ว ในขณะที่การรับประทานอาหารแบบ Hedonic feeding จะหมายถึงแนวโน้มที่ของการรับประทานอาหารอร่อย เพื่อความสุข และมักจะสามารถดำเนินการต่อได้แม้จะไม่มีความหิวมาเป็นตัวกระตุ้น

          การศึกษาใหม่ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Journal Neuron แสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารแบบ Hedonic feeding ถูกควบคุมโดยโปรตีนส่งสัญญาณ (signaling protein) ที่เรียกว่า nociceptin ซึ่งจะกระตุ้นการสื่อสารของระบบประสาทในบริเวณที่สำคัญของสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

          นักวิจัยได้ทำการศึกษา โดยการดัดแปลงพันธุกรรมของหนูเพื่อสร้างโปรตีนโนซิเซปตินเรืองแสง ซึ่งช่วยในการติดตามการเคลื่อนไหวของโปรตีนส่งสัญญาณชนิดนี้ในสมอง จากนั้นนักวิจัยได้ให้หนูกินอาหารมื้อหลัก ก่อนที่จะนำหนูซึ่งอิ่มอาหารแล้วไปไว้ในกรงที่มีอาหารที่มีไขมันแสนอร่อย ซึ่งจากการทดลองปรากฏว่า แม้ว่าหนูจะไม่มีความหิวมากระตุ้น หนูก็ยังดื่มด่ำกับอาหารที่มีไขมัน จนในที่สุดก็กลายเป็นหนูที่มีน้ำหนักตัวเกิน

          จากการศึกษาพบว่า เมื่อหนูตัวใหญ่ขึ้น การส่งสัญญาณของโปรตีนโนซิเซปตินจะเพิ่มมากขึ้นในวงจรสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนอะมิกดะลา (amygdala) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประมวลผลทางอารมณ์ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างไรก็ตาม การยับยั้งทางเคมีของเซลล์ประสาทภายในสมองส่วนอะมิกดะลาที่ผลิตโปรตีนโนซิเซปติน จะทำให้หนูหยุดการกินที่มากเกินไป และการยับยั้งดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อความอยากอาหารมื้อหลักของพวกมัน

          ทั้งนี้ผลการศึกษาบ่งชี้ให้เห็นว่า วงจรสมองที่เฉพาะเจาะจงนี้มีส่วนสนับสนุนการรับประทานอาหารที่มากเกินไป แต่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่เกิดจากการความหิว นักวิจัยกล่าวว่า วิถีประสาทที่ควบคุมการรับประทานอาหารที่ไม่ได้เกิดจากความหิวนี้มีแนวโน้มที่จะพัฒนามากขึ้นในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีการที่รับประทานอาหารก็ต่อเมื่อเผชิญกับความอดอยากหรือความหิวโหย จึงมีความเป็นไปได้ถึงแนวโน้มของการบริโภคอาหารที่มีแคลอรีสูง และนั่นจึงเป็นเหตุผลให้อัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น

          ความอร่อยของอาหารเป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่ส่งเสริมการบริโภค และการรับประทานอาหารที่มากเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญที่นำมาซึ่งภัยสุขภาพ ดังนั้นประโยคที่ว่า "เราจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับสิ่งที่เรารับประทาน" ยังคงเป็นประโยคเตือนใจสำหรับผู้อ่านที่กำลังเคี้ยวโดนัทอยู่ในขณะนี้ได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งที่มา
https://www.scimath.org/article-biology/item/10455-2019-07-01-02-01-52

รูปภาพจาก
https://pixabay.com/th/photos/ความหิว-หิว-การกิน-คุกกี้-บิสกิต-413685/

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%8A%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%A7
Hits 463 ครั้ง