ปฐมพยาบาลอย่างไรเมื่อถูกงูพิษกัด!!

วันที่เผยแพร่: 
Mon 21 June 2021

ประชาชนจึงจำเป็นต้องระมัดระวังป้องกันรับมือกับงู ทั้งที่มีและไม่มีพิษที่อาจจะหนีน้ำแล้วเข้ามาหลบอาศัยอยู่ในบ้านหรือที่ อยู่พักอาศัย งูจะหนีน้ำมาหาที่แห้งๆ เมื่อมองไม่เห็นไปคนเหยียบหรือทำให้งูตกใจก็จะฉกกัด หากเป็นงูพิษร้ายแรงอาจทำให้ผู้ประสบภัยถึงแก่ชีวิตได้ ประชาชนควรเตรียมตัวป้องกันไว้ล่วงหน้าและระมัดระวังตนเอง ก็จะทำให้ปลอดภัยจากงูพิษ รวมทั้งควรรู้วิธีการปฐมพยาบาลอย่างถูกต้อง

เมื่อถูกงูพิษฉกกัด เมื่อถูกงูพิษกัด จะมีอาการแตกต่างกันไปตามชนิดของงูพิษ คือ พิษต่อประสาท เช่น งูเห่า งูจงอาง ทำให้เกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ และที่สำคัญทำให้หยุดหายใจ พิษต่อโลหิต เช่น งูแมวเซา งูกะปะ และ งูเขียวหางไหม้ ทำให้เลือดออกตามผิวหนัง ปัสสาวะเป็นเลือด อาเจียนเป็นเลือด พิษต่อกล้ามเนื้อ เช่น ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อมาก และอาจถ่ายปัสสาวะเป็นสีดำ และพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ

เภสัชกรเชิดเกียรติ กล่าวต่อว่าผู้ถูกงูพิษกัดควรดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้

1) ตั้งสติให้ดีอย่าตกใจเกินเหตุ เนื่องจากผู้ถูกงูกัด บางรายที่ถูกงูพิษกัดอาจไม่ได้รับพิษ เพราะงูไม่ปล่อยพิษออกมา หรืองูพิษตัวนั้นได้กัดสัตว์อื่นมาก่อนและไม่มีน้ำพิษเหลือ ในกรณีที่ได้รับพิษงูผู้ถูกงูกัดจะไม่เสียชีวิตหรือมีอาการอันตรายร้ายแรง ทันที ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที จึงจะเริ่มมีอาการรุนแรง

2) ล้างแผลงูกัดด้วยน้ำสะอาด หรือแอลกอฮอล์และทิงเจอร์ ห้ามทำสิ่งต่อไปนี้ กรีดแผล ดูดแผล ใช้บุหรี่หรือไฟไฟฟ้าจี้ที่แผล โปะน้ำแข็ง สมุนไพรพอกแผล ดื่มสุรา กินยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของแอสไพริน เพราะการกระทำเหล่านี้ไม่ช่วยรักษา แต่กลับจะมีผลเสียคือเพิ่มการติดเชื้อ เนื้อตาย และจะทำให้เสียเวลาที่จะนำส่งผู้ถูกงูกัดไปสถานพยาบาลโดยไม่จำเป็น และห้ามดื่มเหล้า เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มชูกำลั

3) นอนนิ่งๆ จัดท่าให้ส่วนที่ถูกงูกัดอยู่ต่ำกว่าระดับหัวใจ อย่าเคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะบริเวณถูกงูกัด เพื่อชะลอการดูดซึมพิษงูเข้าสู่ท่อน้ำเหลืองและเส้นเลือดดำไหลเวียนเข้า หัวใจ ให้หาไม้ดามบริเวณที่ถูกงูกัดแล้วใช้ผ้าพันให้แน่นพอประมาณเหนือแผลงูกัด ประมาณ 5-15 ซม. แต่ไม่ควรทำการขันชะเนาะ เพราะอาจทําให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้น ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดเนื้อตายได้

4) รีบนำผู้ถูกงูกัดส่งสถานบริการสาธารณสุขที่ใกล้ที่สุด และโดยเร็วที่สุด โดย ระหว่างการนำส่งสถานบริการสาธารณสุขถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการช่วยหายใจ เช่น การช่วยแบบเป่าปากต่อปาก จะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้นานพอ จนไปรับการรักษาที่สถานพยาบาลได้ เพราะงูพิษบางชนิด เช่น งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม พิษจะทำให้ร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัว ผู้ถูกงูกัดจะเสียชีวิตจากการหยุดหายใจ

ผู้ประสบเหตุควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงลักษณะงูที่กัด และกัดบริเวณใด เมื่อไร ถ้านำซากงูไปด้วยก็จะดีมาก แต่ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาตามหาและถึงกับไล่ตีงูเพื่อนำไปด้วย เพราะจะทำให้เสียเวลาในการรักษาโดยไม่จำเป็น ถ้าผู้ป่วยมีโรคประจำตัว หรือเคยมีประวัติแพ้ยาหรือสารใดๆ ให้แจ้งแพทย์ทราบด้วย ผู้ถูกงูกัดไม่จำเป็นต้องได้รับเซรุ่มแก้พิษงูทุกราย แพทย์จะให้เซรุ่มแก้พิษงูเฉพาะในรายที่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์เท่านั้น

วิธีการป้องกัน ผู้ประสบภัยน้ำท่วมควรหลีกเลี่ยงการเดินซอกแคบๆ โพรงไม้ ซอกหินแคบ เดินลุยบริเวณที่มีน้ำขังและมองไม่เห็นพื้นดิน ในที่รกมีหญ้าสูง ในป่าหรือทุ่งนาเวลากลางคืน หากจำเป็นให้เตรียมไฟฉายไปด้วย แล้วใส่กางเกงขายาว ควรมีไม้ตีหญ้าข้างหน้าไว้ ต้องสวมรองเท้าบูทเสมอ และให้ระวังป้องกันรองเท้าบูทมิให้งูหรือสัตว์มีพิษเข้าโดยการพับหรือใช้ยาง มัดไว้

รวมทั้งหมั่นสำรวจตรวจตราดูแลบ้านเรือนให้สะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ปล่อยให้สกปรกรุงรัง ระวังเป็นพิเศษในการยกหิน กองเสื้อผ้าเก่าๆ หรือกองหญ้า เพราะเป็นที่งูชอบอาศัย แต่หากตนเองหรือบุคคลในครอบครัวมีประสบเหตุงูกัดให้รีบพาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด ก่อนที่อาการจะลุกลามและเกิดอันตรายต่อชีวิต แล้วรีบโทรแจ้งที่ เบอร์ 1422 หรือ 1669 และเน้นย้ำให้ประชาชนเคร่งครัดปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือตามประกาศของทางราชการ

ที่มา https://www.scimath.org/article-science/item/2478-2011-11-10-04-44-02

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%87%E0%B8%B9%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94
Hits 1,001 ครั้ง