มลพิษทางอากาศ (Air Pollution)

วันที่เผยแพร่: 
Tue 21 September 2021

มลพิษทางอากาศ... เราสามารถหยุดมันได้

ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ซึ่งนับวันปัญหาดังกล่าวจะทวีความรุนแรงมากขึ้น ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศก็เป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่พวกเราทุกคนควรจะตระหนักถึงและหาแนวทางในการแก้ไขอย่างจริงจัง

ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หมายถึง ภาวะของอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่มากพอ และเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ อนามัยของมนุษย์ สัตว์ พืช และวัสดุต่างๆ สารดังกล่าวอาจเป็นธาตุหรือสารประกอบ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรืออาจอยู่ในรูปของก๊าซ หยดของเหลว หรืออนุภาคของแข็งก็ได้ สารมลพิษทางอากาศหลักที่สำคัญคือ ฝุ่นละออง (SPM) ตะกั่ว (Pb) ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) (กรมควบคุมมลพิษ)

คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามลพิษทางอากาศต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวกับ ควัน ฝนกรด สาร CFC หรือสารพิษรูปแบบต่างๆที่มักเกิดขึ้นภายนอกบ้าน ความจริงมลพิษทางอากาศบางประเภทอาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ เช่น การเกิดฝุ่นฟุ้งจากพายุทะเลทราย หรือควันพิษที่เกิดจากไฟไหม้ป่า ซึ่งแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษอาจจะมีอยู่ไม่กี่แห่งแต่สามารถส่งผลกระทบไปได้ทั่วทั้งบริเวณใกล้เคียงเช่น หลังการเกิดภูเขาไฟระเบิดจะพบว่ามีกลุ่มควันและขี้เถ้าฟุ้งกระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศ

นอกจากนั้นมลพิษทางอากาศสามารถเกิดขึ้นได้ภายในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ภายในอาคารสำนักงานและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ควันจากการสูบบุหรี่หรือการทำอาหาร เป็นต้น

ซึ่งเราสามารถระบุตัวสารพิษแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายหากได้รับสารพิษดังกล่าวได้ดังนี้

ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม

ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO): เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันดีเซล หากร่างกายเราได้รับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในปริมาณที่มากจะส่งผลให้เกิดอาการมึน งง และง่วงนอนเนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์นี้จะไปจับตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลงนั่นเอง

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2): เป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งหากร่างกายได้รับก๊าซนี้ในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียนได้

ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCS): เป็นก๊าซก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนมากจะเกิดจากกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมของมนุษย์เช่น การสร้างเครื่องทำความเย็นหรือการผลิตสเปรย์ เมื่อสาร CFCS ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจะส่งผลทำลายชั้นโอโซนซึ่งเป็นชั้นที่ช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ไม่ให้แผ่ลงมาสู่โลกได้ในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นหากชั้นโอโซนถูกทำลายจะส่งผลให้รังสีดังกล่าวแผ่ลงมายังโลกได้มากจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์คือทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้

ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOX): ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล น้ำมันปิโตรเลียมและถ่านหินซึ่งก๊าซดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอก ควันและฝนกรด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้หากได้รับในปริมาณที่มาก

อนุภาคของสารแขวนลอยในอากาศ (Suspended particulate matter): ประกอบไปด้วยฝุ่น ควัน หมอกและไอน้ำซึ่งลอยปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ สารแขวนลอยเหล่านี้ส่งผลทำให้ทัศนะวิสัยในการมองเห็นลดลงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ และถ้าเราสูดดมเอาสารพวกนี้เข้าไปในปริมาณที่มากอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบได้

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2): เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหิน โรงงานผลิตไฟฟ้าหรือเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมบางประเภทเช่น อุตสาหกรรมการทำกระดาษ อุตสาหกรรมทำโลหะ ซึ่งก๊าซดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอก ควันและฝนกรด ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จะทำให้เกิดอาการหอบ หรือติดเชื้อในปอดได้

นอกจากนั้นยังมีสารพิษหลายชนิดที่เรารู้จักและคุ้นเคยดีที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ สารพิษเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศก็ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น

ผู้ชายสูบบุหรี่

ควันบุหรี่หรือควันยาสูบ (Tobacco smoke): เป็นที่ทราบกันดีว่าควันบุหรี่เป็นสารเคมีที่เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่สูบเท่านั้น แต่คนที่สูดเอาควันบุหรี่เข้าไปก็มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดโรคมะเร็งปอด โรคหืด หรือการติดเชื้อในปอดได้เช่นเดียวกัน

สารปนเปื้อนทางชีวภาพ (Biological pollutants): เป็นสารที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและล่องลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศ เช่น ละอองเกสรดอกไม้หรืออับสปอร์ สารเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคหืด หอบ ภูมิแพ้ หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบได้

สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอได้เร็ว (Volatile organic compounds): ส่วนใหญ่จะเป็นสารที่ระเหยมาจากสีทาบ้าน สีน้ำมันที่เป็นสารจำพวกอะซิโตน การระเหยของน้ำมันปิโตรเลียม หรือแม้แต่ในขั้นตอนของการซักแห้งก็มีสารดังกล่าวระเหยออกมาได้ สารเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการระคายเคืองที่ตา จมูกและคอ ในบางครั้งอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้และที่ร้ายแรงที่สุดคือทำให้ระบบการทำงานของตับล้มเหลว

ฟอร์มอลดีไฮด์ (Formaldehyde): เป็นสารเคมีที่ประกอบไปด้วย คาร์บอน ไฮโดรเจนและออกซิเจน อยู่ในรูปของก๊าซที่ไม่มีสีแต่มีกลิ่น พบได้ทั่วไปตามธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากพืช สัตว์ และมนุษย์ โดยอาจพบในส่วนผสมของ น้ำมันพืช แชมพู ลิปสติก เสื้อผ้า หรือกระดาษชำระ ถ้าร่างกายได้รับสารดังกล่าวในปริมาณที่มากในระยะเวลาอันสั้นจะทำให้เกิดการระคายเคืองที่ตา จมูก และเกิดอาการภูมิแพ้ แต่หากได้รับในปริมาณที่มากในช่วงระยะยาวจะส่งผลทำลายระบบประสาท ระบบการย่อยอาหารรวมไปถึงก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้

สารกัมมันตรังสี (Redon): เป็นสารที่สะสมอยู่ภายในบ้านได้ จริงๆแล้วสารเหล่านี้ส่วนใหญ่จะสะสมอยู่ในชั้นหินและชั้นดินภายในบริเวณบ้านนั่นเอง และจะปลดปล่อยออกมาในรูปของก๊าซซึ่งก๊าซดังกล่าวหากร่างกายได้รับในปริมาณมากอาจส่งผลให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้

สถานการณ์เรื่องมลพิษทางอากาศของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะมีปริมาณสารพิษในอากาศเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในเขตชุมชนขนาดใหญ่ และพื้นที่พัฒนาแล้วเช่น กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และสระบุรี เป็นต้น ซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่เกิดจากยานพาหนะและการทำอุตสาหกรรม

ควันดำจากท่อไอเสียรถโดยสารประจำทาง

ปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะส่วนใหญ่จะพบในเขตกรุงเทพมหานครเนื่องจากมีจำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศในเขตกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ.2540 โดยกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม พบว่าสารมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศมากที่สุดคือ ฝุ่นที่มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนด ส่วนสารมลพิษอื่น ๆ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สารตะกั่ว ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

ส่วนปัญหามลพิษทางอากาศในต่างจังหวัดพบในเขตชุมชนขนาดใหญ่ที่มีการขยายตัวของอุตสาหกรรม การคมนาคม ขนส่ง การจราจรและกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ลำปาง เป็นต้น กรณีมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นที่โรงงานไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง นับว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งเกิดจากการเผาไม้ของถ่านหินลิกไนต์เพื่อใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้เกิดพิษภัยต่อสุขภาพอนามัยของคนและสิ่งมีชีวิตที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้นรวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง อีกทั้งยังทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายด้วย

จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามปัญหาฝุ่นละอองยังคงเป็นปัญหาใหญ่และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง สำหรับสารมลพิษอื่น ๆ ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ สารตะกั่ว ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน และก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในบรรยากาศทั่วไป ยังมีค่าต่ำกว่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเป็นผู้กำหนดไว้ พบว่าสารตะกั่วมีแนวโน้มลดลงภายหลังจากที่รัฐบาลได้รณรงค์ให้มีการใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534

จะเห็นได้ว่ามลพิษทางอากาศนั้นสามารถเกิดขึ้นได้รอบตัวเรา และแม้ว่ามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่จะเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม โรงผลิตไฟฟ้าหรือจากยานพาหนะก็ตาม แต่เราสามารถมีส่วนช่วยลดมลพิษดังกล่าวได้ โดยเริ่มจากการปรับปรุงตกแต่งบ้าน ปรับเปลี่ยนนิสัยในการบริโภคหรือเปลี่ยนวิธีเดินทางใหม่ สิ่งต่างๆเหล่านี้มีส่วนทำให้มลพิษทางอากาศลดน้อยลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมที่จะทำตามวิธีดังกล่าวรึยัง และนี่คือบางส่วนในแนวทางที่จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้โดยเริ่มต้นที่บ้านของเราก่อน

เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าจากหลอดไส้ให้เป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน
ปิดไฟทุกดวงในบ้านเมื่อไม่ใช้งาน
ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่สามารถทดแทนหรือสร้างใหม่ได้ เช่น ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการให้ความร้อน หรือพลังงานลมซึ่งพลังงานเหล่านี้จะไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ
พยายามนำกระดาษ พลาสติกหรือแก้วน้ำกลับมาใช้ใหม่แทนการนำไปทิ้งขยะ
ลดการใช้ถุงพลาสติกและเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษแทน
หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์เพราะจะก่อให้เกิดสาร CFCS มากขึ้น
เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากโฟมหรือนำวัสดุที่ทำจากโฟมไปดัดแปลงทำชิ้นงานอื่นๆแทนที่จะนำไปเผาทำลายซึ่งจะก่อนให้เกิดมลพิษตามมา โดยเราสามารถนำโฟมไปทำการอัดและนำมาทำเป็นผนังบุห้องได้
ดูแลตรวจสอบเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นอยู่เสมอ หากเกิดการชำรุดหรือรอยรั่วควรรีบซ่อมแซมทันที
พยายามเปิดเครื่องปรับอากาศให้น้อยที่สุด
หลีกเลี่ยงการขับรถในเส้นทางที่มีรถติดเป็นประจำ
ใช้รถยนต์โดยสารประจำทาง การเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนหรือไปทำงานแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ควรใช้รถส่วนตัวเมื่อต้องเดินทางระยะไกลเท่านั้น
ไม่ควรขับรถโดยใช้อารมณ์มากเกินไปเพราะนอกจากจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุแล้ว การที่เราเบรกแรงหรือออกตัวเร็วเกินไปจะทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้มากขึ้นซึ่งย่อมก่อให้เกิดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
ปลูกต้นไม้เพราะต้นไม้สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ควรหมั่นตรวจสอบเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์เสมอ

เพียงเท่านี้เราก็สามารถลดมลพิษทางอากาศอีกทั้งยังช่วยประหยัดพลังงาน และประหยัดค่าใช้จ่ายประจำวันได้อีกด้วย

แหล่งที่มา https://www.scimath.org/article-chemistry/item/1341-air-pollution

QR Code for https://www.stkc.go.th/stiarticle/%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A9%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8-air-pollution
Hits 2,397 ครั้ง