Malaria
(Malaria) โรคมาลาเรีย
ลักษณะโรค
โรคมาลาเรียเป็นโรคติดต่อ มียุงก้นปล่องเป็นพาหะเกิดจากเชื้อ Plasmodium ซึ่งเป็นสัตว์เซลเดียวอยู่ใน class Sporozoa มีวงจรของเชื้อระยะต่างๆ สลับกันคือ ระยะมีเพศและไม่มีเพศ และมีวงจรชีวิตอยู่ทั้งในสัตว์มีกระดูกสันหลังและยุง มาลาเรียเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญมาก ประชากรร้อยละ 36 ของประชากรจากกว่า 90 ประเทศทั่วโลกอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของโรคมาลาเรีย สำหรับประเทศไทยมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญเช่นกัน แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราป่วยและอัตราตายลดลง แต่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมา อัตราป่วยและอัตราตายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สาเหตุ
เชื้อ Plasmodium ที่ก่อโรคในคนมี 4 ชนิด ได้แก่ P.falciparum, P.vivax, P.malariae และ P.ovale ในประเทศไทยเชื้อที่พบส่วนใหญ่เป็นชนิด P.falciparum และ P.vivax ส่วนน้อยเป็นชนิด P.malariae, P.ovale ยุงพาหะนำโรคที่พบในประเทศไทย ได้แก่ Anopheles dirus, An.minimus, An. maculatus, An. sundaicus, An. aconitus และ An. pseudowillmori
วิธีการติดต่อ
เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียมีเชื้อมาลาเรียกัดคน ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรีย (sporozoite) จากต่อมน้ำลายเข้าสู่กระแสเลือดของคน จากนั้นเชื้อจะเดินทางไปที่ตับและเกิดการแบ่งเซลแบบไม่อาศัยเพศ ทำให้ได้ merozoite นับพันตัว จากนั้นเซลตับจะโตและแตกออกปล่อย merozoite ออกมาในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการของโรค คือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ สำหรับเชื้อ P.vivax และ P.ovale เชื้อบางส่วนยังคงอยู่ในเซลตับที่เรียกว่า "hypnozoite" ทำให้เกิดการกลับเป็นซ้ำ (relapse) ได้
หลังจากที่ merozoite เข้าสู่กระแสเลือด เชื้อจะเดินทางต่อไปยังเม็ดเลือดแดง และเจริญเป็น trophozoite และแบ่งตัวอีกครั้งเป็น merozoite 6-30 ตัว เมื่อเม็ดเลือดแดงแตก merozoite จะเดินทางไปยังเม็ดเลือดแดงอื่น แล้วเจริญแบ่งตัววนเวียนอยู่เช่นนี้ merozoite บางตัวจะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเชื้อมีเพศ (gametocyte) เพศผู้เพศเมีย เมื่อยุงก้นปล่องตัวเมียกัดคนที่มี gametocyte ในกระแสเลือด เชื้อเหล่านี้จะผสมพันธุ์กันเป็น zygote เจริญเป็น oocyst ฝังตัวที่กระเพาะยุง แล้วแบ่งตัวเป็น sporozoite ไปยังต่อมน้ำลายเพื่อรอการกัดของยุงอีกครั้ง
แหล่งที่มา : https://www.vibhavadi.com/Health-expert/detail/562

- 42 reads