Measles

โรคหัด (Measles)

โรคหัดเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Morbillivirus มักพบในเด็กเล็ก แต่ก็อาจพบในเด็กโตหรือในผู้ใหญ่ได้ โรคหัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเพราะสามารถติดต่อกันได้ง่าย และในบางครั้งอาจพบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ โรคหัดสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ

ลักษณะอาการของโรคหัด

โรคหัดมีระยะฟักตัวประมาณ 8-12 วัน หลังจากระยะฟักตัวแล้วจะเริ่มมีอาการดังนี้

  1. ระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้สูง อ่อนเพลีย มีอาการไอที่เด่นชัด ร่วมกับมีอาการตาแดง อาจมีอาการเหมือนอาการแพ้แสงร่วมด้วย ผู้ป่วยจะมีอาการในระยะนี้ประมาณ 2-4 วัน ในระยะนี้ช่วงก่อนผื่นขึ้นอาจพบจุดขาว ๆ บนพื้นแดงที่บริเวณกระพุ้งแก้มเรียกว่า Koplik spot หากพบจุดขาว ๆ นี้  จะสามารถวินิจฉัยได้ค่อนข้างแน่นอนว่าเป็นโรคหัด

  2. ระยะผื่น หลังจากมีไข้สูง ไอ ตาแดง 2-4 วัน  ผู้ป่วยก็จะเริ่มมีผื่นแดง ๆ  ขึ้น โดยเริ่มที่ศีรษะ บริเวณไรผม กระจายไปตามลำตัว ไปยังแขนขา ลักษณะผื่นช่วงแรกจะเป็นสีแดง ต่อมาจะกลายเป็นสีคล้ำอยู่รวมกันเป็นปื้น ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะยังมีไข้สูง ไอ ตาแดงอยู่ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยได้ ระยะนี้จะอยู่ราว 3-4 วัน จากนั้นไข้จะลดลง ผื่นอาจอยู่ได้ถึง 1 สัปดาห์ และอาการไออาจอยู่ได้ถึง 2 สัปดาห์

ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ในผู้ป่วยโรคหัด ได้แก่ ภาวะปอดบวม หูชั้นกลางอักเสบ ถ่ายเหลว สมองอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน โดยภาวะแทรกซ้อนพบได้ประมาณร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโรคหัด ภาวะถ่ายเหลวจะเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ที่มีโอกาสพบภาวะแทรกซ้อนสูงขึ้น ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่นรับประทานยากดภูมิ ได้รับเคมีบำบัดอยู่) หญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุน้อย โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 1  ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ

แหล่งที่มา : https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue033/health-station

ภาพ: