ทำไมเราถึงมีสีที่ชอบ

การมองเห็นสีคือการที่ดวงตาของเรารับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีความยาวคลื่นหรือความถี่ต่างกัน ไม่ว่าจากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรงหรือจากการสะท้อนของวัตถุ สมองของเราทำหน้าที่ในการประมวลสีจากสัญญาณที่ส่งมาจากดวงตา แม้สีจะเป็นข้อมูลหนึ่งที่ช่วยแยกแยะสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา แต่มนุษย์ยังให้ความหมายกับสี รวมทั้งให้ความรู้สึกชอบ โปรดปราณหรือความสำคัญเฉพาะสี จนมีการศึกษาว่าทำไมมนุษย์ถึงชอบสีไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันยังไม่มีทฤษฎีที่สามารถอธิบายได้สมบูรณ์แบบว่าทำไมมนุษย์จึงชอบสีแตกต่างกัน หนึ่งในทฤษฏีที่อ้างอิงบ่อยคือ “An ecological valence theory of humancolor preferences” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Vision ปีพ.ศ. 2553 สันนิษฐานว่าปัจจัยที่มีผลต่อการชอบสีเกิดจากการเชื่อมโยงสีของวัตถุ ประสบการณ์ และความรู้สึกเกี่ยวกับสีเข้าด้วยกันตัวอย่างเช่น มีการเก็บข้อมูลสีที่คนทั่วโลกชื่นชอบที่สุดคือสีฟ้า ซึ่งเป็นสีของท้องฟ้า ไร้เมฆหรือสีของน้ำใสสะอาดที่ให้ความรู้สึกเชิงบวก ทำให้สีนั้นมีความหมายลึกซึ้งมากขึ้น

มีการนำทฤษฎีดังกล่าวมาอธิบายการที่เพศชายชอบโทนสีน้ำเงิน และเพศหญิงชอบโทนสีแดง เนื่องจากในวัยทารก จะเริ่มเสาะหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับเพศของตน เช่นการที่ผู้ใหญ่แต่งเสื้อผ้าหรือซื้อของเล่นสีชมพูให้ทารกเพศหญิง โดยมีความคิดว่าเหมาะกับเพศ ก็ส่งผลให้เด็กเชื่อมโยงสีชมพูกับเพศของตนว่าเป็นสีที่เหมาะสม พร้อมกับส่งเสริมประสบการณ์เชิงบวกกับสีนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีอีกทฤษฎีที่สันนิษฐานว่าความชื่นชอบสีสดของมนุษย์มาจากวิวัฒนาการบรรพบุรุษของมนุษย์ ที่ต้องอาศัยการแยกแยะสีเพื่อความอยู่รอด เช่น ความเชื่อมโยงสีสดกับผลไม้สุกที่รับประทานได้ หรือความเชื่อมโยงระหว่างทสีตุ่นๆ หม่นๆ กับของเสียและการเน่าเปื่อยที่ควรหลีกเลี่ยง

จึงกล่าวได้ว่า ความชื่นชอบสีของแต่ละคน เกิดจากการเชื่อมโยงสีกับสิ่งกระตุ้นรอบตัวเรา เหล่านี้จึงปัจจัยที่ส่งผลต่อความชอบสีของแต่ละคน และยังมีความเป็นไปได้ว่า การชื่นชอบสีของแต่ละคน อาจเปลี่ยนไปตามเวลา โดยเมื่อเราได้รับประสบการณ์ที่หลากหลายจากการดำเนินชีวิต ก็อาจทำให้แต่ละคนชื่นชอบสีที่แตกต่างกันเปลี่ยนแปลงไป

วันที่: 
Thu 9 January 2025
แหล่งที่มา: 
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/4129
Hits 462 ครั้ง