เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับชามัทฉะ

ชามัทฉะ (Matcha) คือ ชาเขียวแบบผงที่มีต้นกำเนิดจากญี่ปุ่น โดยใบชาจะถูกบดละเอียดและใช้ในพิธีชงชาแบบดั้งเดิม มัทฉะไม่เพียงแต่เป็นเครื่องดื่มยอดนิยม แต่ยังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระและคุณประโยชน์มากมาย เช่น การช่วยเพิ่มสมาธิและกระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน ทำให้มัทฉะกลายเป็นที่นิยมในหลายประเทศทั่วโลก

ชามัทฉะ คืออะไร

มัทฉะ (Matcha) เป็นหนึ่งในชนิดของชาเขียวที่ได้มาจากต้นชาในพืชตระกูล Camellia Sinensis มีถิ่นฐานเดิมในประเทศญี่ปุ่น มัทฉะจะถูกปลูกด้วยแนวทางเฉพาะและเก็บเกี่ยวผ่านกระบวนการพิเศษ ก่อนนำมาบดเป็นผงชาละเอียด ผงมัทฉะที่ได้จะมีสีเขียวสดใส เนื่องจากมีปริมาณคลอโรฟิลล์สูง ชาเขียวชนิดนี้ยังมีความพิเศษตรงกรรมวิธีการชงชาที่ได้รากฐานมาจากพิธีการชงชาสไตล์ญี่ปุ่นเก่าแก่ ต้องนำผงชามัทฉะบดไปตีเข้ากับน้ำร้อนในภาชนะพิเศษอันเปี่ยมไปด้วยศิลปะและการฝึกสมาธิ เป็นวิธีการชงที่ได้รับความนิยมทั้งในญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกมาหลายศตวรรษ แม้ปัจจุบัน การชงชาเขียวชนิดอื่นจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมตกทอด แต่กรรมวิธีการชงชาเขียวมัทฉะยังคงรักษาไว้ซึ่งวิธีของชาวญี่ปุ่นดั้งเดิม ความพิเศษตั้งแต่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ตลอดจนวิธีการชง ส่งผลให้รสชาติของมัทฉะชาเขียวมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสูงและเป็นหนึ่งในการชงชาที่มีชั้นเชิงศิลปะอบอวล

ชามัทฉะ ต่างจาก ชาเขียว อย่างไร

พื้นเพและการปลูก
  • ชาเขียว: กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของชาเขียว (Green tea) ในปัจจุบันมาที่มาจากประเทศจีนเป็นส่วนใหญ่ มักปลูกในที่แจ้ง มีแสงแดดส่องถึง
  • ชาเขียวมัทฉะ: มัทฉะ (Matcha) ส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น และมักปลูกในที่ร่มช่วง 2 – 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว
กระบวนการแปรรูป
  • ชาเขียว: ใบชาเขียวทั่วไป มีกระบวนการเก็บเกี่ยวและแปรรูปได้หลายวิธี เช่น นำใบชาเขียวไปผ่านการตากแดด การคั่วชา (pan firing) หรือนึ่ง จากนั้นจึงนำไปทำให้แห้ง ชาเขียวที่ได้มักจะมีลักษณะเป็นใบชาแห้งเกลียว
  • ชาเขียวมัทฉะ: ชาเขียวชนิดมัทฉะ เมื่อถูกเก็บเกี่ยวแล้วจะถูกนำไปนึ่งและอบแห้งอย่างรวดเร็ว เพื่อลดการเกิดออกซิเดชัน จากนั้นจะนำก้านและเส้นใบออก แล้วเอาไปบดละเอียดจนได้ผงมัทฉะสีเขียวสดใส
วิธีการชง
  • ชาเขียว: ทำได้ด้วยการนำใบชาแห้ง (dried leaves tea) หรือถุงชา (tea bag) มาแช่กับน้ำร้อน ก่อนจะสกัดได้เป็นน้ำชาใสสีเขียวเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน สามารถนำไปปรุงรสชาติหรือเติมนมได้
  • ชาเขียวมัทฉะ: ทำได้ด้วยการนำผงมัทฉะมาผสมกับน้ำร้อนในถ้วยขนาดเล็กและตีด้วยก้านไม้ไผ่เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน จะได้เป็นน้ำชาเขียวสีเขียวเข้มสด มีความเข้มข้นสูง สามารถนำไปเจือจางกับนมได้
รสชาติ
  • ชาเขียว: ชาเขียวจะมีกลิ่นความเป็นดิน (Earthy) และ กลิ่นต้นไม้ใบหญ้า (Grassy / vegetable-like) มีรสชาติฝาดหรือเฝื่อนเล็กน้อย บอดี้เบาบาง ให้ความสดชื่น
  • ชาเขียวมัทฉะ: ชาเขียวมัทฉะจะมีกลิ่น Earthy และ Grassy เหมือนกันกับชาเขียวชนิดอื่น แต่จะมีรสชาติพิเศษที่ซ่อนไปด้วยความหวานและขม บอดี้แน่น

ประเภทของชามัทฉะ

แม้มัทฉะจะเป็นดั่งซับเซ็ตของอาณาจักรชาเขียว แต่ตัวมัทฉะเองก็สามารถแตกหน่อ ออกประเภทไปได้ถึง 3 ประเภทหลัก ๆ ที่ยึดตามเกรดการเก็บเกี่ยวดังนี้

1. Ceremonial Grades: เป็นมัทฉะที่ได้จากการเก็บเกี่ยวครั้งแรก เรียกว่า “Ichibancha” ชาเขียวมัทฉะในเกรดนี้จะมีคุณภาพสูงสุด ให้รสชาติที่นุ่มนวลเป็นพิเศษ สีเขียวสดกว่าชนิดอื่น มีราคาสูง และเหมาะกับการนำไปชงแบบวิธีดั้งเดิม

2. Culinary Grades: เป็นมัทฉะที่ได้จากการเก็บเกี่ยวในครั้งที่ 2 เรียกว่า “Nibancha” จะยังคงมีสีเขียวสดแต่อาจหม่นลงมาจากเกรดแรก ให้รสชาติที่ฝาดขึ้น เกรดนี้จึงเหมาะแก่การนำไปประกอบอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น มัทฉะลาเต้

3. Ingredient Grades: มัทฉะในเกรดนี้จะได้จากการเก็บเกี่ยวภายหลังจาก 2 รอบแรก ใบชาจะมีสีเขียวออกเหลืองมากขึ้น ให้รสชาติที่ขมโดดเด่น จึงเหมาะแก่การนำไปเป็นส่วนผสมของการผลิตอาหารหรืออาหารเสริม

ปริมาณคาเฟอีนในชาวมัทฉะ

“คาเฟอีน” เป็นสารที่มักปรากฏอยู่ในตระกูลชาหรือชาเขียวเป็นปกติ เพียงแต่ปริมาณคาเฟอีนในชาเขียวมัทฉะจะมีมากกว่าชาเขียวทั่วไป ซึ่งนั่นเป็นผลพวงมาจากการปลูกชาในที่ร่มทำให้คาเฟอีนมีแนวโน้มเพิ่มสูงตามไปด้วย โดยเฉลี่ยแล้วชาเขียวมัทฉะจะมีปริมาณคาเฟอีนอยู่ที่ 25 – 70 mg. ขณะที่ชาเขียวจะมีปริมาณคาเฟอีนเฉลี่ย 24 – 40 mg.

อย่างไรก็ตาม ชาเขียวมัทฉะ ยังคงเป็นเมนูเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ เพราะหากเทียบปริมาณคาเฟอีนของชาเขียวมัทฉะกับกาแฟที่มีคาเฟอีนสูงถึง 95 mg. แล้ว ชาเขียวมัทฉะจะมีปริมาณคาเฟอีนที่น้อยกว่านั่นเอง

ประโยชน์ของชามัทฉะ

1. มีสารต้านอนุมูลอิสระ: ในชาเขียวมัทฉะ อุดมไปด้วย “คาเทชิน (Catechins)” ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระทางธรรมชาติ ช่วยป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดได้ในชั้นเซลล์และลดความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงหลายชนิด

2. สร้างความตื่นตัวและเพิ่มการทำงานของสมอง: ในมัทฉะมีสารประกอบ “L-Theanine” ที่สร้างความตื่นตัวได้ในปริมาณที่พอดีและไม่ทำให้เกิดผลกระทบจากคาเฟอีนเหมือนในกาแฟ มัทฉะสามารถเพิ่มการทำงานของสมองได้ดีขึ้น การบริโภคมัทฉะปริมาณ 2 กรัมต่อวันติดต่อกัน 2 เดือน จะช่วยฟื้นฟูการทำงานของสมองในผู้สูงอายุได้

3. ช่วยดีท็อกสิ่งตกค้าง: สารคลอโรฟิลล์ในมัทฉะ นอกจากจะให้สีสันเขียวสดใส ยังมีประโยชน์ในการล้างสารพิษ ไม่ว่าจะสารเคมีหรือโลหะหนักที่ตกค้างในร่างกาย

4. ช่วยควบคุมน้ำหนัก: ในมัทฉะชาเขียว จะมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องระบบเผาเผลาญมากกว่าชาเขียวทั่วไปถึง 3 เท่า การดื่มมัทฉะเป็นประจำ จึงมีส่วนช่วยในการลดมวลร่างกายหรือควบคุมน้ำหนัก

5. ช่วยผ่อนคลายและสร้างสารความสุข: มัทฉะชาเขียวสามารถส่งเสริมการสร้างโดปามีนและเซโรโทนินได้ ซึ่งเป็นสารเหล่านี้สามารถกระตุ้นอารมณ์ สร้างความสุข เพิ่มความจำ และเพิ่มสมาธิ

วันที่: 
Wed 29 January 2025
แหล่งที่มา: 
https://www.aromathailand.com/facts-about-matcha-green-tea/?lang=th
Hits 1,117 ครั้ง