ไอกรน โรคติดต่อที่พ่อแม่ต้องเฝ้าระวัง
หากลูกน้อยของคุณพ่อคุณแม่มีอาการไอแห้งๆ ไข้ต่ำๆ ติดต่อกันนานหลายวัน ต้องระวัง “โรคไอกรน” โรคติดต่อสำคัญที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตในเด็กเล็ก เมาดูกันว่าโรคไอกรนมีอาการอย่างไร สาเหตุมาจากอะไร การรักษาและวิธีป้องกันที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้เป็นอย่างไร
โรคไอกรน คืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร
โรคไอกรน (Whooping Cough) เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่พบเจอได้ทุกวัย โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Bordetella Pertussis (B. Pertussis) ที่ติดต่อได้ง่ายผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโดยเฉพาะจากผู้ใหญ่ในครอบครัว ซึ่งอาจจะไม่มีอาการ หรืออาการแสดงน้อย โดยเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักพบได้ที่บริเวณลำคอและหลังโพรงจมูก ทำให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุทางเดินหายใจและเกิดอาการไอ ซึ่งมีลักษณะอาการพิเศษที่สามารถสังเกตได้ชัดเจนคือการไอติดๆ กัน ไอจนหายใจไม่ทัน และเมื่อหายใจเข้าจะได้ยินเสียงวู๊ปๆ สลับกันแบบนี้เป็นชุดๆ
อาการโรคไอกรนเป็นอย่างไร
หลังจากได้รับเชื้อแบคทีเรีย (B. Pertussis) จะมีระยะฟักตัว 7-10 วัน หรือนานได้ถึง 20 วัน ก่อนจะปรากฎอาการดังนี้
1. อาการไอกรนระยะแรก
จะเป็นช่วงที่แยกโรคได้ยาก เพราะอาการที่แสดงออกนั้นคล้ายคลึงกับไข้หวัดธรรมดา ซึ่งมีอาการเริ่มต้นดังนี้
- อาการไอ
- น้ำมูกเล็กน้อย
- อาจมีไข้ต่ำๆ หรือไม่มีไข้เลยก็ได้
จากนั้นอาการไอจะเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะมีอาการอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และมักเป็นอาการไอแบบแห้งๆ ซึ่งในระยะนี้เป็นระยะที่แพร่เชื้อได้มากที่สุด
2. อาการไอกรนระยะรุนแรง
- เป็นระยะที่อาการไอกรนเด่นชัดที่สุดและสามารถเป็นนาน 2-4 สัปดาห์ โดยมีอาการดังนี้ ไอซ้อนๆ ไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด สลับกับการหายใจเข้าอย่างรุนแรงจนเกิดเสียงวู๊ปๆ
- บางคนไอจนตาแดง น้ำมูก น้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดคอโป่งพอง หรืออาเจียนได้ เพื่อขับเสมหะที่เหนียวข้นออกมา
- ในเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน อาจมีอาการหน้าเขียว ตัวเขียว จากการหยุดหายใจ หรือจากเสมหะอุดตันทางเดินหายใจ
3. อาการไอกรนระยะฟื้นตัว
เป็นระยะที่ความรุนแรงของอาการทั้งหมดลดลง แต่จะยังคงมีอาการไอติดต่อกันต่อเนื่องไปอีก 2-3 สัปดาห์ และถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอะไรเพิ่มเติมก็จะหายจากโรคได้ใน 6-10 สัปดาห์
อาการที่ควรระวัง และโรคแทรกซ้อนอันตรายที่มาพร้อมโรคไอกรน
- ปอดแฟบ อาการที่เกิดจากเสมหะที่เหนียวข้นไปอุดตันหลอดลมและถุงลม
- ปอดอักเสบ อาการแทรกซ้อนสำคัญที่ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตในเด็ก
- อาการชัก จากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ
วิธีการรักษาโรคไอกรน
- ยาปฏิชีวนะ โดยยาจะทำงานได้ดีในช่วง 7 วันแรก และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ถ้าตรวจวินิจฉัยไวและให้ยารักษาได้ทัน เพราะการให้ยาในระยะที่มีอาการไอหนักแล้วจะไม่ค่อยได้ผล
- รักษาตามอาการ โดยการให้ยาตามอาการที่เป็น รวมไปถึงพักผ่อนให้เพียงพอ, ดื่มน้ำอุ่น, อยู่ในห้องที่อากาศถ่ายเทได้ดี
- เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น การออกแรง, ร้องไห้, อยู่ในที่ๆ มีฝุ่น หรือควัน, อยู่ในอากาศที่เย็นจัด หรือร้อนจัด
โรคไอกรนสามารถป้องกันได้ ด้วยการเข้ารับวัคซีนพื้นฐานให้ครบ
ปัจจุบันวัคซีนไอกรนถูกจัดให้เป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องเข้ารับ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดความรุนแรงของโรคในอนาคต โดยวัคซีนโรคไอกรนควรเข้ารับให้ครบตามช่วงอายุ ดังนี้
- ครั้งที่ 1 เมื่อมีอายุ 2 เดือน
- ครั้งที่ 2 เมื่อมีอายุ 4 เดือน
- ครั้งที่ 3 เมื่อมีอายุ 6 เดือน
- ครั้งที่ 4 เมื่อมีอายุ 18 เดือน
- ครั้งที่ 5 ฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี