Google Maps ทำงานอย่างไร

การให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งบนพื้นโลก หรือ Location-Based Service (LBS) ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมแห่งศตวรรษที่ 21 Location-Based Service ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีและมักมีโอกาสใช้งานอยู่บ่อยครั้ง คือ Google Maps หรือบริการแผนที่ของบริษัท Google ที่มาพร้อมกับความสามารถหลากหลายด้าน เช่น การรองรับการใช้งานผ่านอุปกรณ์หลายชนิด ไปจนถึงการนำอัลกอริทึมและปัญญาประดิษฐ์มาใช้แนะนำเส้นทางและวิธีการเดินทางที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้ใช้มากที่สุด

Google Maps จะใช้ที่อยู่ปัจจุบันของผู้ใช้เพื่อให้บริการข้อมูลต่าง ๆ เช่น การแนะนำสถานที่น่าสนใจในบริเวณโดยรอบ หรือการแนะนำเส้นทางไปยังสถานที่อื่นที่ผู้ใช้ต้องการ โดยการพิจารณาที่อยู่ของผู้ใช้นั้นสามารถทำได้จากการตรวจสอบกับผู้ให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่ผู้ใช้กำลังเข้าใช้งาน ซึ่งสามารถใช้ระบุพื้นที่ได้ในเบื้องต้น หรืออาจใช้ตำแหน่งจากระบบ Global Positioning System (GPS) ร่วมกับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ไร้สาย หากใช้งานผ่านโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ซึ่งจะทำให้ได้ตำแหน่งที่อยู่ที่ละเอียดมากขึ้น

เกร็ดวิทย์

เมื่อให้บริการข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ และได้ทราบตำแหน่งคร่าว ๆ ของผู้ใช้เป็นการตอบแทนแล้ว Google Maps จะส่งข้อมูลนั้นกลับไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบประมวลผลแบบกลุ่มเมฆ (Cloud) เพื่อใช้งานอื่น ๆ ในหลายวัตถุประสงค์ รูปแบบหนึ่งของการใช้งานข้อมูลเหล่านี้คือการใช้หาความหนาแน่นและอัตราเร็วของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่อยู่ของอุปกรณ์ไร้สายจำนวนมากในพื้นที่หนึ่ง ๆ ในช่วงเวลาหนึ่งเดียวกัน เมื่อนำข้อมูลนี้ไปรวมกับข้อมูลแผนที่ ซึ่งมีตำแหน่งของถนนหรือเส้นทางการเดินทาง จะทำให้ Google Maps สามารถพิจารณาภาพรวมของการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ หรือ ข้อมูลการจราจร ทั้งในแง่ของทิศทางการเคลื่อนที่และปริมาณของยานพาหนะได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ไร้สายจำนวนมากเพื่อประมวลผลออกมาเป็นข้อมูลอีกชุดนี้ สามารถเรียกอีกชื่อได้ว่ากระบวนการ Crowdsourcing นั่นเอง

วันที่: 
Wed 14 August 2024
แหล่งที่มา: 
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/4296
Hits 637 ครั้ง