ขุมทรัพย์ (ทรัพยากร) ที่ซ่อนตัวใต้ดิน

น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวดิน ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม โดยเป็นแหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ

         น้ำบาดาล หมายถึง น้ำใต้ดินที่เกิดอยู่ในชั้นดิน กรวด ทราย หรือหิน ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กําหนดเขตน้ำบาดาลและความลึกของน้ำบาดาล พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้น้ำใต้ดินที่อยู่ลึกจากผิวดินลงไปเกินกว่า 15 เมตร เป็นน้ำบาดาล น้ำบาดาลเป็นน้ำที่เกิดจากน้ำผิวดินที่ซึมลงผ่านชั้นดินหรือชั้นหินที่ไม่ซึมน้ำ และเกิดการสะสมอยู่ระหว่างช่องว่างของเนื้อดิน ซึ่งปริมาณน้ำบาดาลนี้สามารถเพิ่มและลดได้ตามฤดูกาล หากเป็นฤดูฝนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น และช่วงแล้งปริมาณน้ำก็จะลดลง

          โดยทั่วไปแล้วน้ำบาดาลจะมีคุณภาพน้ำที่อยู่ในเกณฑ์ดี เช่น มีความใส มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้ยากกว่าน้ำผิวดิน เนื่องจากมีชั้นดิน และชั้นหินที่ทำหน้าที่เสมือนเครื่องกรองทางธรรมชาติช่วยกรองเบื้องต้นแล้ว ส่วนในเรื่องคุณสมบัติทางเคมี จะมีปริมาณแร่ธาตุ และสารละลายต่าง ๆ อยู่ในน้ำแตกต่างกันไปตามแต่ละสถานที่ เช่น แคลเซียม โซเดียม โปแทสเซียม ซัลเฟต ไนเตรต และอีกค่าหนึ่งทางเคมีที่โดดเด่นในน้ำบาดาล คือ ค่าการนำไฟฟ้า (Electrical Conductivity) ในน้ำบาดาลจะมีค่าการนำไฟฟ้าสูง เนื่องจากมีปริมาณเกลือแร่ และไอออนละลายอยู่มากนั้นเอง

          น้ำบาดาลเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ (ทรัพยากร) ที่มีค่าและมีประโยชน์มาก หากเรานำมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และแหล่งขุดน้ำบาดาลมาใช้เป็นสถานที่ที่ไม่ขัดต่อหลักการขุดน้ำบาดาล ซึ่งน้ำบาดาลในแต่ละสถานที่ล้วนมีคุณภาพน้ำที่แตกต่างกันออกไป ตามการชะล้างของธาตุอาหารในชั้นดินและชั้นหินในบริเวณนั้น ๆ เพราะฉะนั้นก่อนการนำน้ำบาดาลมาใช้ควรตรวจสอบคุณภาพน้ำตามการนำมาใช้ประโยชน์ เช่น นำมาอุปโภคบริโภค การเกษตร การประมง

น้ำบาดาลเป็นทรัพยากรหนึ่งแหล่งที่ถือเป็นขุมทรัพย์ทางธรรมชาติที่มีคุณค่าและมีประโยชน์กับมนุษย์อย่างมหาศาล หากเรารู้จัก และเข้าใจ

วันที่: 
Mon 3 February 2025
แหล่งที่มา: 
https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/4048
Hits 159 ครั้ง