ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ต่างกันอย่างไร ?

ความแตกต่างระหว่างไวรัสและแบคทีเรีย

ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างหลากหลายและมีขนาดเล็กมาก ซึ่ง 1 ในไวรัสที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวเพียง 450 นาโนเมตรเท่านั้น หรือเทียบเท่ากับแบคทีเรียขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ไวรัสมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักที่เคลือบอยู่ชั้นผิวภายนอกและเป็นศูนย์กลางของสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ (DNA) หรืออาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัส โดยไวรัสจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ หรือพืช เพื่อเพิ่มจำนวนขึ้น

แบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ค่อนข้างซับซ้อน มีผนังแข็งด้านนอกสุดและถัดเข้ามาเป็นเยื่อหุ้มบาง ๆ ล้อมรอบของเหลวภายในเซลล์ไว้ สามารถเพิ่มจำนวนได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และอยู่รอดได้ในบรรยากาศที่แตกต่างกันไป เช่น สถานที่ที่ร้อนหรือเย็นจัด หรือในร่างกายของมนุษย์ เป็นต้น แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะมีประโยชน์และไม่เป็นอันตราย โดยมีส่วนช่วยในระบบย่อยอาหาร ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง และให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่แบคทีเรียบางส่วนหรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของแบคทีเรียทั้งหมดก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้

การติดเชื้อไวรัส

ไวรัสจะรุกรานเข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตเพื่อขยายจำนวน ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส สร้างความเสียหายและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ แต่เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเสมอไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นด่านแรกที่ช่วยกำจัดและทำลายเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสแต่ละชนิดจะทำให้เกิดโรคต่างกันออกไป เช่น
- ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคหวัด
- เรบีส์ไวรัส (Rabies Virus) เป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
- ไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคหูด
- วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella Zoster Virus) เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด
- วรัสตับอักเสบ (Hepatitis Virus) ชนิดเอ บี หรือซี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ตับและทำให้ตับอักเสบ
- วรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นสาเหตุของโรคเอดส์

การติดเชื้อแบคทีเรีย
แบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดพิษซึ่งทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายได้ แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่แบคทีเรียบางส่วนก็อาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ เช่น

สเตร็ปโทโคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus Pneumoniae) เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม
บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis) เป็นสาเหตุของโรคไอกรน
คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) เป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก
เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร
วิบริโอคอเลอเร (Vibrio Cholerae) เป็นสาเหตุของอหิวาตกโรค
ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) เป็นสาเหตุของวัณโรค
เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) เป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิส
ไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) เป็นสาเหตุของโรคหนองในแท้
ไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) เป็นสาเหตุของโรคไข้กาฬหลังแอ่น
การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

โรคบางชนิดอย่างโรคปอดบวม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคท้องร่วง อาจเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะตรวจร่างกายและประวัติทางการแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ หรือการตัดชิ้นเนื้อตรวจ เป็นต้น เพื่อยืนยันสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรค และให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีรักษาการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้ทั้งการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่จริง ๆ แล้ว การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการในระหว่างที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังกำจัดเชื้อโรค หรืออาจใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ยาเนวิราปีน ยาอะบาคาเวียร์ ยาอะทาซานาเวียร์ หรือยาอินดินาเวียร์ เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคเอดส์ อีกทั้งยังสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย

ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติแล้วจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มหลัก เช่น ยาเพนิซิลลิน ยาเซฟาโลสปอริน ยาแมคโครไลด์ ยาฟลูออโรควิโนโลน ยาซัลโฟนาไมด์ ยาเตตราไซคลีน ยาอะมิโนไกลโคไซด์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เกิดการติดเชื้อและเชื้อแพร่กระจายได้ง่าย หรืออาจไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้น ๆ ได้ในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียครั้งต่อไป

วันที่: 
Tue 4 August 2020
แหล่งที่มา: 
https://www.pobpad.com/ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเ
Hits 4,462 ครั้ง