มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม[ หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (อังกฤษ: intangible cultural heritage, ย่อ: ICH) ได้รับการสนับสนุนจากยูเนสโก โดยมุ่งเน้นไปยังวัฒนธรรมส่วนที่ในทางกายภาพนั้นจับต้องไม่ได้

ใน พ.ศ. 2544 ยูเนสโกได้ทำการสำรวจเพื่อพยายามให้นิยามและจัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Convention for the Safeguarding of the Intangible Cultural Heritage) จนแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2546 เพื่อการคุ้มครองและสนับสนุนวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ปัจจุบัน (ธันวาคม 2564) ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้แล้วทั้งสิ้น 629 รายการ ใน 139 ประเทศทั่วโลก

ตามอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546 คำว่า "มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage)" นิยาม ดังนี้

“มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” หมายถึง การปฏิบัติ การเป็นตัวแทน การแสดงออก ความรู้ ทักษะ ตลอดจนเครื่องมือ วัตถุ สิ่งประดิษฐ์ และพื้นที่ทางวัฒนธรรมอันเป็นผลจากสิ่งเหล่านั้น ซึ่งชุมชน กลุ่มชน และในบางกรณีปัจเจกบุคคลยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมของตน มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นี้ซึ่งถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่งเป็นสิ่งซึ่งชุมชนและกลุ่มชนสร้างขึ้นใหม่อย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน เป็นปฏิสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของตน และทำให้คนเหล่านั้นเกิดความรู้สึกมีอัตลักษณ์และความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของอนุสัญญาฉบับนี้ จะมีการพิจารณาเฉพาะมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้เท่าที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่มีอยู่ด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเท่านั้น รวมทั้งข้อกำหนดให้มีการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนทั้งหลาย กลุ่มชน และปัจเจกบุคคล และต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในประเทศไทย
นิยามศัพท์ของคำว่า "Intangible Cultural Heritage" ในบริบทของประเทศไทยมีผู้นิยามไว้หลากหลาย เช่น มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มรดกทางวัฒนธรรมที่ไม่ใช่กายภาพ และมรดกวัฒนธรรมทางจิตใจ เป็นต้น

ความสับสนของการนิยามความหมายของ "Intangible Cultural Heritage" ในประเทศไทยดังกล่าว ก่อให้เกิดการถกเถียงเป็นวงกว้าง กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะผู้รับผิดชอบจึงได้หาบทสรุปโดยการเปิดเวทีรับความคิดเห็น และมีมติให้ใช้คำว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" แทนคำว่า "มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้" ตามที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2559 อย่างไรก็ตาม การนิยามความหมายของคำว่า "มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม" ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาฯ ที่ทางการไทยจัดทำ และคำว่า "Intangible Cultural Heritage" ใน อนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ พ.ศ. 2546 ที่ยูเนสโกจัดทำ มีความแตกต่างกันบางประการ

รายการที่ขึ้นทะเบียนแล้ว (Inscribed)
หมายเหตุ: ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมฯ[40]
โขน ละครรำสวมหน้ากากในไทย (ขึ้นบัญชี พ.ศ. 2561)
นวดไทย การนวดแผนไทย (ขึ้นบัญชี พ.ศ. 2562)
โนรา นาฏศิลป์ในภาคใต้ของไทย (ขึ้นบัญชี พ.ศ. 2564)

รายการที่เสนอขึ้นทะเบียนแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของยูเนสโก (On-going nominations)
สงกรานต์ไทย (คาดว่าจะพิจารณา พ.ศ. 2566)
ต้มยำกุ้ง (คาดว่าจะพิจารณา พ.ศ. 2568)

รายการที่เตรียมเสนอขึ้นทะเบียน หรือกำลังศึกษาความเป็นไปได้เพื่อขึ้นทะเบียน
มวยไทย
ผีตาโขน
กัญชาไทย
ข้าวแกง – โดยอาจเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกับประเทศสิงคโปร์ ในรายการ "Hawker culture in Singapore (วัฒนธรรมอาหารริมทางของสิงคโปร์)" ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเมื่อ พ.ศ. 2563
ข้าวเหนียวมะม่วง
เกอบายา (Kebaya) – โดยมีแผนเสนอขึ้นทะเบียนร่วมกับประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน
ผ้าขาวม้า

 

 

วันที่: 
Fri 10 March 2023
แหล่งที่มา: 
https://th.wikipedia.org/wiki/มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม
Hits 790 ครั้ง
หมวดหมู่ OECD: