เรื่องกลิ่น ๆ ของกระเทียม
กระเทียมจัดเป็นเครื่องเทศ ที่มีสารประกอบที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบในปริมาณมาก ทำให้กระเทียมมีกลิ่นรส (Flavor) เฉพาะตัว ซึ่งคนไทยนิยมใช้ในการประกอบอาหาร ทั้ง ต้ม ผัด น้ำพริก แกง และทอด สารที่พบในกระเทียมที่มีการพูดถึงกันมากที่สุดคือ สารอัลลิอิน (Alliin) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็นสารอัลลิซิน (Allicin) เมื่อกระเทียมถูกสับหรือทุบให้แตก สารอัลลิซินนี้เป็นสารที่ทำให้เกิดสารประกอบกำมะถันระเหยง่ายที่ให้กลิ่นฉุนในกระเทียม เช่น อัลลิลเมธิล ซัลไฟต์ (Allyl methyl sulfide) อัลลิลเมธิล ไดซัลไฟต์ (Allyl methyl disulfide) และอัลลิล เมอร์แคพเทน (Allyl mercaptan)
แม้ว่ากระเทียมจะมีกลิ่นที่ฉุน แต่จากข้อมูลงานวิจัยพบว่ากระเทียมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา มีฤทธิ์ลดการจับตัวของเกล็ดเลือด เพิ่มความสามารถในการสลายไฟบริน (Fibrin) ซึ่งเป็นสารที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเหนียว ซึ่งพบได้ในเลือด เป็นส่วนช่วยในการแข็งตัวของเลือดเมื่อเกิดบาดแผล ลดความดันโลหิตสูง ลดปริมาณไขมันและน้ำตาลในเลือด จากคุณประโยชน์เหล่านี้ จึงมีการใช้กระเทียมเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อช่วยบรรเทาภาวะไขมันในเลือดสูง ป้องกันโรคหลอดเลือดแดงแข็งตัวและช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย