แมนโคเซบ Mancozeb สารสีฟ้าบนต้นหอม

มีการแแชร์คลิปเกี่ยวกับต้นหอม ที่พบคราบสีฟ้า ซึ่งมีการระบุว่าเป็นสาร แมนโคเซบ (mancozeb) และบางท่านเข้าใจว่าสารดังกล่าวไม่เป็นอันตรายนั้น เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
กล่าวคือแม้ว่าจะมีพิษเฉียบพลัน (acute toxicity) น้อยจากการกินเข้าไป  (LD50 มีค่าตั้งแต่ 5,000 mg/kg จนถึงมากกว่า 11,200 mg/kg ในหนูทดลอง) แต่การก่อพิษระยะยาว (chronic toxicity)  สารนี้มีความเสี่ยงต่อระบบสืบพันธุ์และเป็นอันตรายต่อทารก โดยเฉพาะการเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ประเภท 1B  อีกทั้งมีผลต่อการรบกวนระบบต่อมไร้ท่อในมนุษย์ ไม่รวมทั้งความเป็นพิษร้ายแรงต่อสัตว์น้ำ

โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศให้มีการยกเลิกการใชสารแมนโคเซบ ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชในยุโรป ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 และอาจขยายการใช้ต่อไปได้แต่ต้องไม่เกินวันที่ 4 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา
ประเทศอื่นก็อยู่ระหว่างการดำเนินการแบนแมนโคเซบ เช่นกัน ตัวอย่างเช่น เวียดนาม กำหนดแบนสารนี้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นี้ และอินเดีย ได้เตรียมประกาศแบนในเร็วๆนี้ เป็นต้น

ขณะนี้ ไทยแพนอยู่ระหว่างดำเนินการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่คณะกรรมการวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาดำเนินการหามาตรการในการจำกัดการใช้ ยกเลิกการขึ้นทะเบียน หรือแบนสารดังกล่าว รวมทั้งสารอื่นๆ เช่น คาร์เบนดาซิม ซึ่งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ ด้วย

วันที่: 
Tue 17 January 2023
แหล่งที่มา: 
https://www.facebook.com/ThaiPesticideAlertNetwork/
Hits 935 ครั้ง