นักดาราศาสตร์ศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ในช่วงรังสีอินฟราเรดขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 6 September 2017

นักดาราศาสตร์ศึกษาชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ในช่วงรังสีอินฟราเรดขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง

          เมื่อวันจันทร์ ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา (ตามเวลาในประเทศไทย) ในขณะที่คนทั้งโลกเฝ้าติดตามความสวยงามของปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้น ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา นักดาราศาสตร์จากองค์การนาซาก็ได้ทำการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์สุริยุปราคาบนเครื่องบินที่ความสูงจากพื้นดินกว่า 1,524 เมตร เพื่อเก็บข้อมูลปรากฏการณ์ดังกล่าวในช่วงรังสีอินฟราเรด

 

          ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง แสงสว่างจ้าจากพื้นผิวดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบัง ทำให้แสงเรืองอ่อน ๆ ของบรรยากาศชั้นโคโรนารอบดวงอาทิตย์จะปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้น ซึ่งเป็นอีกช่วงเวลาสำคัญของนักดาราศาสตร์ที่จะได้เก็บข้อมูลชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ในช่วงรังสีอินฟราเรด ข้อมูลที่ได้จะช่วยนักดาราศาสตร์ในการไขปริศนาของดวงอาทิตย์ที่ยังไม่สามารถอธิบายได้ในปัจจุบัน เช่นอุณหภูมิของบรรยากาศชั้นโคโรนาที่สูงกว่าพื้นผิวของดวงอาทิตย์ รวมถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศชั้นโคโรนา

 

          นอกจากนี้ ในขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงยังเป็นโอกาสดีสำหรับนักดาราศาสตร์ที่จะสามารถเก็บข้อมูลดาวพุธในด้านที่เป็นกลางคืนอีกด้วย ซึ่งโอกาสนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสเพียงน้อยนิดของนักดาราศาสตร์ เนื่องจากดาวพุธมีวงโคจรอยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ ทำให้การศึกษาดาวพุธจะได้รับอิทธิพลจากแสงของดวงอาทิตย์เข้ามารบกวนเสมอ ดังนั้นการสังเกตการณ์ดาวพุธขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาจึงเป็นโอกาสที่ดีและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักสำหรับนักดาราศาสตร์ในการถ่ายภาพเก็บข้อมูลเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงนี้ ซึ่งจะสามารถศึกษาอุณหภูมิของพื้นผิวดาวพุธด้านมืดที่หันหน้าเข้าหาโลก หรือข้อมูลอื่นๆ จากแสงในช่วงรังสีอินฟราเรด

 


ภาพที่ 1 ภาพปรากฏการณ์สุริยุปรคาในช่วงรังสีอินฟราเรด

 


ภาพที่ 2 ภาพถ่ายความเร็วสูงจากอุปกรณ์บันทึกภาพบนเครื่องบินขององค์การนาซา

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3347-nasa-solar-eclipse-in-infrared
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)