กระทรวง อว. เดินหน้าหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยชิงหัว สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมพัฒนาอุดมศึกษา-บุคลากร-เทคโนโลยีแห่งอนาคต ในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีน
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 68 ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานปลัดกระทรวง อว. พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ให้การต้อนรับ Prof. Wang Yu คณบดีและคณะผู้แทนจาก Department of Electronic Engineering, มหาวิทยาลัยชิงหัว (Tsinghua University) สาธารณรัฐประชาชนจีน และนาย Huang Weiwei รองประธานอาวุโสและประธานฝ่ายพัฒนาความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ของจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ในโอกาสเข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนทางวิชาการและกระชับความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาและการพัฒนาบุคลากร ที่ห้องประชุมศาสตราจารย์พันเอกอาทร ชนเห็นชอบ 1 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (ถนนศรีอยุธยา)
ดร. พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. และกระทรวง อว. มีนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การพัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยีอวกาศ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Technology) รวมทั้งมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อให้สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยต่างๆ สามารถบูรณาการความพยายามร่วมกัน เพื่อให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดันการพัฒนาประเทศและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระดับโลก สำหรับความร่วมมือไทย-จีน ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กระทรวง อว. ได้รักษาความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน สถาบันวิทยาศาสตร์จีน และกระทรวงศึกษาธิการของจีน ซึ่งการหารือความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความร่วมมือด้านการอุดมศึกษาในโอกาสครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและจีน
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวต่อว่า จากการหารือครั้งนี้กระทรวง อว. พร้อมที่จะสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยชิงหัวขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาหลักสูตร (Joint Master Dual Degree Program) การสร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรสถาบันอุดมศึกษาในสาขาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อมุ่งสู่การเป็นที่ยอมรับในระดับโลก (Global Talent) ผ่านกลไกการสร้างความร่วมมือกับ Visiting Professor และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและคณาจารย์ทั้งในระดับปริญญาตรี บัณฑิตศึกษา และนักวิจัยหลังปริญญาเอก ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก (Global and Frontier Research) อาทิเช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ตลอดจนการสร้างและพัฒนาระบบนิเวศด้านการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมผ่านโครงการความร่วมมือในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการร่วมในสาขาที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตโดยเฉพาะ AI
“นอกจากนี้ ขอขอบคุณสำหรับการสนับสนุนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในฐานะภาคธุรกิจชั้นนำของไทยที่มีต่อภาคการศึกษาทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติว่า ถือเป็นการเสริมความแข็งแกร่งของทั้งสถาบันอุดมศึกษาและภาคธุรกิจที่ร่วมมือกันสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ซึ่งเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการวิจัยในหลากหลายสาขาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับสังคมทั้งไทยและจีนต่อไป” ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าว