ก.วิทย์ฯ-สวทช. ทีเซล วช. ผนึก สธ. นำร่อง 6 โรงพยาบาลทั่วประเทศหนุนใช้ “เดนตีสแกน 2.0” เครื่องแรกฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ทันตกรรมสามมิติ เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 29 May 2017

ก.วิทย์ฯ-สวทช. ทีเซล วช. ผนึก สธ. นำร่อง 6 โรงพยาบาลทั่วประเทศหนุนใช้ “เดนตีสแกน 2.0” เครื่องแรกฝีมือคนไทย ตอบโจทย์ทันตกรรมสามมิติ เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทย

 

          ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร อาคาร 1 ชั้น 2 กระทรวงสาธารณสุข: พลอากาศเอก     ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานและสักขีพยานในการลงนามระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อร่วมผลักดันผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมไทยสู่การใช้งานจริง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดี ลดการสูญเสียเงินตราของประเทศ โดยมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เข้าร่วมด้วย

 

 

          พลอากาศเอก ดร.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบาย “ประเทศไทย 4.0” นั้น ต้องการนำผลงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยไปขับเคลื่อนประเทศ รัฐบาลได้มีนโยบายจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงบประมาณ

 

 

          ดำเนินการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการตามรายการบัญชีนวัตกรรมของไทย ผ่านวิธีกรณีพิเศษได้ไม่น้อยกว่า 10% แต่ไม่เกิน 30% ของปริมาณความต้องการในการจัดซื้อจัดจ้าง  ทั้งนี้จะช่วยเพิ่มงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ที่มีไม่ถึง 5% ให้เป็น 10% ภายในปี 2560 ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุข และ 3 กองทุนสุขภาพที่เกี่ยวข้อง จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการจัดซื้อรายการจากบัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย

 

 

          ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนและร่วมผลักดันการใช้นวัตกรรมไทยจากบัญชีทั้งสอง เช่น ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น ที่ผลิตในประเทศผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในโรงพยาบาลต่างๆ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข และ 3 กองทุนหลัก ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และประกันสังคม ซึ่งการลงนามความร่วมมือในการใช้ผลงานวิจัยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรม (DentiiScan) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในวันนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว

 

 

          ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ทีเซล) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมมือกันขับเคลื่อนนำผลงานวิจัยสู่บัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย และพร้อมส่งมอบนวัตกรรมเครื่องเดนตีสแกน เพื่องานทันตกรรมสามมิติ ให้สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และสภากาชาดไทย

 

          เครื่องเดนตีสแกนเป็นตัวอย่างผลงานวิจัยไทยที่มีคุณสมบัติและมาตรฐานสากลที่พิสูจน์ว่าใช้งานได้จริง ซึ่งสามารถผลิตสู่เชิงพาณิชย์และเผยแพร่ให้มากขึ้นต่อไป ปัจจุบันมีคำขอขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยกับ สวทช. แล้ว 201 ผลงาน ผ่านการเห็นชอบแล้ว 73 ผลงาน สำนักงบประมาณ ตรวจสอบราคาเสร็จสิ้นและขึ้นบัญชีแล้ว 56 ผลงาน และอยู่ระหว่างตรวจสอบราคาเพื่อประกาศเพิ่มเติม 17 ผลงาน

 

 

          ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า นวัตกรรมถือเป็นปัจจัยที่สำคัญของประเทศไทยที่จำเป็นต้องพัฒนาและผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และสามารถผลิตส่งออกเป็นรายได้ของประเทศ นโยบายสำคัญคือ การให้ความสำคัญต่อการเพิ่มสัดส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ร้อยละ 1 ของ GDP และกำหนดสัดส่วนระหว่างค่าใช้จ่ายในการลงทุนภาครัฐกับเอกชน ในสัดส่วน 70:30 เพื่อผลักดันนโยบายดังกล่าว

 

          กลยุทธ์ที่สำคัญคือ การจัดทำบัญชีนวัตกรรมไทยและบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทย เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถนำผลงานวิจัยมาขึ้นบัญชี และภาครัฐจะมีมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือและให้สิทธิพิเศษกับนักวิจัยที่ได้รับการขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและสิ่งประดิษฐ์ไทย ปัจจุบันมีผลงานที่ขึ้นบัญชีสิ่งประดิษฐ์ไทยแล้ว 150 ผลงาน ได้รับความเห็นชอบให้เป็นนวัตกรรมพร้อมใช้ตามมาตรฐานในระดับชาติและระดับสากล จำนวน 21 ผลงาน

 

 

          ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานวิจัยและพัฒนา โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) หน่วยงานวิจัยในสังกัด สวทช. ทุ่มเทแรงกายใจเพื่อผลิตผลงานวิจัยเครื่องเดนตีสแกน 2.0 ด้านงานทันตกรรมแบบ 3 มิติ ช่วยให้ทันตแพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วยแบบ 360 องศา

 

 

          ลดความผิดพลาดในการผ่าตัดในช่องปากของผู้ป่วยได้ ที่สำคัญคือ เป็นนวัตกรรมที่ผลิตได้โดยคนไทย และมีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐานสากล นอกจากนี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ทีเซล) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนงบประมาณผลิตเครื่องเดนตีสแกน 2.0 จำนวน 6 เครื่อง โดยในปี 2560 นี้พร้อมนำไปติดตั้งและใช้ประโยชน์ในสถานพยาบาล 6 แห่ง ได้แก่ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ รพ.แพร่ รพ.สกลนคร รพ.สุราษฎร์ธานี และ รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สภากาชาดไทย นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการที่ขอรับสิทธิอนุญาตผลิตใช้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

 

          ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการ และที่ปรึกษาอาวุโสผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวว่า เดนตีสแกน 2.0 เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สำหรับงานทันตกรรม มีหลักการทำงานโดยใช้รังสีเอกซ์ที่มีลำรังสีแบบทรงกรวยและฉากรับรังสีชนิดแบนราบ (Flat Panel Detector) ซึ่งตั้งอยู่ตรงกันข้าม โดยอุปกรณ์ทั้งสองจะหมุนไปพร้อมๆ กัน รอบผู้ป่วย 1 รอบ ใช้เวลา 18 วินาที เพื่อเก็บข้อมูลบริเวณช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วย แต่ละมุมมอง

 

 

          แล้วส่งต่อให้ซอฟต์แวร์ประมวลผลสร้างเป็นภาพสามมิติ สำหรับเครื่อง เดนตีสแกน 2.0 เป็นรุ่นที่สองของเครื่องที่พัฒนาในประเทศไทย คุณสมบัติพื้นฐานทัดเทียมกับเครื่องที่นำเข้าจากต่างประเทศ มีปริมาณรังสีต่ำใกล้เคียงกับเครื่องที่ผลิตจากต่างประเทศ ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางรังสีจากสำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข  ผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยทางระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐาน IEC 60601-1 และ 60601-1-2 จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 (ระบบการบริหารจัดการคุณภาพเครื่องมือแพทย์) รวมทั้งการซ่อมแซมและบำรุงรักษาทำได้ในประเทศและมีความรวดเร็ว

 

 

          ด้าน ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซล (TCELS) กล่าวว่า ทีเซล มีนโยบายด้านสนับสนุนการวิจัยพัฒนเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ พร้อมสนับสนุนให้นำผลงานวิจัย พ้ฒนา และนวัตกรรมของไทยที่ได้มาตรฐานสากลไปสู่การใช้งานภาครัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจไปสู่เอกชน โดยส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้การวิจัยและพัฒนาต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ จากความร่วมมือในการส่งมอบนวัตกรรมทางการแพทย์เครื่องเดนตีสแกน 2.0 นี้ ก่อให้พันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนมีโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียต่อไป

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/5285-20170529-dentiiscan
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พว.)