ก.วิทย์ฯ แถลงก้าวต่อไปของ STARTUP Thailand ปั้น “เด็กอาชีวะ” สู่นักรบใหม่ทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เร่งแก้ไขกฎหมายสตาร์ทอัพ ดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต หนุนการลงทุนจากต่างชาติในปีหน้า

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 21 September 2017

ก.วิทย์ฯ แถลงก้าวต่อไปของ STARTUP Thailand ปั้น “เด็กอาชีวะ” สู่นักรบใหม่ทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เร่งแก้ไขกฎหมายสตาร์ทอัพ ดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต หนุนการลงทุนจากต่างชาติในปีหน้า

 

IMG 5778

           ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแถลงข่าว STARTUP Thailand 2018 Chapter: จากความท้าทายสู่การปฏิบัติจริง ร่วมกับ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง EN-TECH ณ ห้องบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

 

IMG 5722 IMG 5689IMG 5792 IMG 5734

           หลังประสบความสำเร็จอย่างสูงจากงาน “Startup Thailand 2017” ที่สร้างกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งประชาชนและนักธุรกิจในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ “อรรชกา” เผยแผนปั้น “เด็กช่าง” สู่การเป็นสตาร์ทอัพ นักรบเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาสนใจและอยากเรียนอาชีวศึกษา และเร่งปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ พร้อมดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโต ในงาน “Startup Thailand 2018
INVEST NATION” หนุนการลงทุนจากต่างชาติ

 

            ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า งาน STARTUP Thailand เป็นความมุ่งมั่นของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ที่จะพัฒนาสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง โดยใช้กลไกสนับสนุนและการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาคมสตาร์ทอัพ  เพื่อสร้างนักรบทางเศรษฐกิจพันธุ์ใหม่  นั่นคือผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีความสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติ  งาน “Startup Thailand 2017” ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งกับการจัดงานที่กรุงเทพฯ หลังจากตระเวนจัดใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ  นอกจากเกิดกระแสความตื่นตัวในธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” เป็นที่รู้จักในวงกว้างทั้งประชาชนและนักธุรกิจในภูมิภาคทั่วประเทศแล้ว ยังเกิดผลเป็นรูปธรรมหลายด้าน อาทิเช่น  เกิดเม็ดเงินลงทุนมูลค่าสูงถึง 6,000 ล้านบาท เกิดสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพและเริ่มดำเนินธุรกิจจริงกว่า 700 ราย เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 7,500 อัตรา ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีและทักษะด้านความเป็นผู้ประกอบการสูง เป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตของการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นสูงจากปี 2559 กว่า 50% และสูงกว่าปี 2558 กว่า 200% สร้างความสนใจในธุรกิจสตาร์ทอัพกระจายไปในทุกภาคส่วน

 

          จากวันนั้น เกิดภารกิจเร่งด่วนและความท้าทายหลายประการ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จนถึงวันนี้ ได้มีดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านั้น

 

          ความท้าทายแรกประการแรก การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเพื่อลดปัญหาอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของสตาร์ทอัพในประเทศไทย โดยคณะกรรมการวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ได้เห็นชอบ ร่าง “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” เพื่อให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของสตาร์ทอัพในประเทศไทยมากขึ้น ใน 4 ประเด็น ได้แก่ เปิดช่องให้สตาร์ตอัพสามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพได้ สามารถทยอยให้หุ้นแก่พนักงานของสตาร์ตอัพได้ ให้พนักงานมีสิทธิซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดได้
และสามารถแก้ไขสิทธิในหุ้นบุริมสิทธิโดยใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้ โดยขณะนี้ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว หากเห็นชอบโดยเฉพาะการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้เท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ และช่วยให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทยกันมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์เหล่านี้ อาจยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนทั้งกลุ่มที่ไม่หวังผลตอบแทน (Angle Investor) และธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) มาลงทุนกับสตาร์ทอัพไทยได้ 
คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ จึงมีมติให้ดำเนินการยกร่าง "พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ" ขึ้นมาเพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้นกฎหมายดังกล่าวจะมีทั้งหมด 4 หมวด ประกอบด้วย หมวดที่ 1 นิยามของสตาร์ทอัพ คือกิจการที่จดทะเบียนไม่เกิน 60 เดือน ต้องทำธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนา   หมวดที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หมวดที่ 3 สิทธิประโยชน์ที่จะให้กับสตาร์ทอัพ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ทั้ง 3 กลุ่ม และหมวดที่ 4 จัดตั้งศูนย์ทดสอบและนวัตกรรม เพื่อรับรองมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ

 

IMG 5784 IMG 5631IMG 5730 IMG 5813

 

           ดร. อรรชกา กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่จะให้ต้องเทียบเท่าระดับสากล และอย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน และป้องกันไม่ให้ธุรกิจที่เกิดในไทย เมื่อเติบโตแล้วย้ายไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ต้องการพัฒนาให้สตาร์ทอัพไทยมีการพัฒนาและมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ต้องพร้อม รวมถึงผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ด้วยความท้าทายประการที่สอง การวางรากฐานและพัฒนากำลังคนให้เพียงพอต่อการเติบโตของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เริ่มทำงานร่วมกับ 30 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก่อให้เกิดมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ (Entrepreneurial University) ที่มีการพัฒนาหลักสูตร การสร้างภาวะความเป็นผู้ประกอบการ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในมหาวิทยาลัย การสร้าง Co-working space ในมหาวิทยาลัย 30 แห่ง และการพัฒนาแนวคิดสู่ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่  โดยในปี 2561 นี้ เราได้ขยายโอกาสการเข้าสู่สตาร์ทอัพในกลุ่มนักเรียนอาชีวะ โดยมุ่งผลักดันการสร้างวิธีคิด การสร้างทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสร้าง “นักรบใหม่ทางเศรษฐกิจ” ให้เกิดขึ้น  โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเด็กนักเรียนอาชีวะพัฒนาสู่ความเป็นสตาร์ทอัพ นำวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะของรัฐและเอกชนกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ เข้ามาร่วมบ่มเพาะกำลังแรงงานยุคใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ มีทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ และความสามารถในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ   โดยการจัด Thailand Pitching Challenge “อาชีวะ R-League” ในลักษณะเดียวกับมหาวิทยาลัย กำหนด 1,000 ทีมตั้งต้น จัดประกวด 3 รอบ คัดให้เหลือ 50 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าค่ายอบรม เสริมสร้างความรู้ด้านการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบ่มเพาะการก้าวเป็นสตาร์ทอัพรายใหม่ จากนั้นแข่งขันคัดเหลือ 10 ทีมสุดท้าย ที่จะเข้าร่วม Thailand Pitching Challenge “อาชีวะ R-League”  ในงาน STARTUP Thailand 2018  หาผู้ชนะ 3 ทีม ก่อนนำไปศึกษาดูงานต่างประเทศ และสนับสนุนต่อยอดการลงทุนเป็นสตาร์ทอัพต่อไป      

 

IMG 5667 IMG 5656IMG 5661 IMG 5834
 

          ดร.อรรชกา กล่าวเพิ่มเติมว่า “นอกจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้แล้ว  ยังดำเนินงานร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่ช่วยสนับสนุนการจัด Pitching Challenge “อาชีวะ R-League” ครั้งนี้ด้วย

           ทั้งนี้ ดร. ทรรศนะ บุญขวัญ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง EN-TECH กล่าวถึง ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในครั้งนี้ จะเป็นแรงจูงใจให้นักเรียนในระดับอาชีวะศึกษาทั่วประเทศ ที่มีไอเดีย กล้าคิด กล้าฝันได้มีเวทีสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยไม่มีข้อจำกัด  การแข่งขัน “อาชีวะ R-League” จะเป็นแม่เหล็กสำคัญให้นักเรียนอาชีวะได้ร่วมพัฒนาสร้างนวัตกรรมในสาขาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้ รวมทั้งการนำนักเรียนอาชีวะเข้าสู่การพัฒนาเป็นสตาร์ทอัพยังเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ และช่วยให้เด็กไทยอยากเรียนอาชีวศึกษามากขึ้นอีกด้วย

           และความท้าทายประการสุดท้าย คือ การพัฒนาสตาร์ทอัพไทย ที่ผ่านมาสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ยังมองตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีจำนวนไม่มากนักที่สามารถเข้าสู่ตลาดต่างประเทศได้   กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงเร่งพัฒนาระบบบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ ให้มีความสามารถในการขยายตลาดออกสู่ต่างประเทศ โดย ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์  ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวถึง การพัฒนาสตาร์ทอัพไทยว่า เราจะดำเนินการพัฒนาในรายสาขา (Sector) สำคัญๆ ที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจประเทศ ได้แก่ สุขภาพ (HealthTech) ภาครัฐ (GovTech) เกษตร (AgTech) อาหาร (FoodTech) และท่องเที่ยว (TravelTech) ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันผลักดันและพัฒนาสตาร์ทอัพไทยในรายสาขาให้โดดเด่นขึ้น ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และในปี 2561 จะมีการจัดกิจกรรมและประชุมสัมมนาเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพรายสาขา ในรูปแบบของ Festival ได้แก่ Health FEST 2018, Gov FEST 2018, FARM FEST 2018, DREAM FEST 2018 รวมทั้งการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ย่านนวัตกรรม (Innovation District) ในพื้นที่นำร่องโครงการ 15 ย่านทั่วประเทศ เพื่อสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ สร้างงาน สร้างคุณค่าที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละพื้นที่  ขณะนี้กำลังดำเนินการจัดทำผังย่านนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมจำนวน 11 ย่าน  และในต้นปี 2561 จะมีการจัด District Summit 2018 เป็นกิจกรรมและประชุม สัมมนาในระดับประเทศ ในรูปแบบการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยอย่างครบวงจร ไม่ได้มุ่งเน้นพัฒนาเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเท่านั้น  แต่เป็นการมองการพัฒนาในภาพรวมทั้งระบบ มองการพัฒนาย่านนวัตกรรมทั้งพื้นที่ ครอบคลุมทั้งเรื่องสาธารณูปโภค เครือข่าย (Network) สาขา (Sector) ความเป็นเมือง และไลฟ์สไตล์ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 8,000 คน

          นอกจากนี้ ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมถึงการพัฒนา Web Portal (http://startupthailand.org) เพื่อเป็นศูนย์กลางแห่งการประชาสัมพันธ์องค์ความรู้สำหรับสตาร์ทอัพ การให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup Thailand Ecosystem) รวมทั้งมีฐานข้อมูล อันจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลไปต่อยอดในเรื่องอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูลวิสาหกิจเริ่มต้น นักลงทุน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องโดยเปิดใช้อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 

          ขณะนี้ กำลังพัฒนาและเพิ่มเติมข้อมูลสถิติ รายงานประจำปีสตาร์ทอัพ และการประเมินกลุ่มอุตสาหกรรม และ e-Learning ในส่วนที่เป็นรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพในแต่ละสาขาให้มากขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล และเพื่อใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนออนไลน์เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมและรับสิทธิประโยชน์ได้ที่ http://startupthailand.org

            ดร.อรรชกา ได้ตอกย้ำว่า ความชัดเจนของการพัฒนาสตาร์ทอัพไทยสู่ตลาดต่างประเทศคือก้าวสำคัญของการจัดงาน STARTUP Thailand 2018 ที่จะจัดขึ้นในกลางปี 2561 ภายใต้แนวคิด INVEST NATION ที่เน้นเรื่องการลงทุนจากต่างชาติ โดยจะเชิญนักลงทุนจากทั่วโลกมาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย  ตั้งเป้าหมายให้เกิดการลงทุนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ  เพื่อให้งาน STARTUP Thailand กลายเป็นงานสตาร์ทอัพระดับโลก ขยายพื้นที่จัดงานขึ้นเป็น 25,000 ตารางเมตร พร้อมเปิดกิจกรรมใหม่ขึ้นภายในงาน 4 Global Concept ได้แก่ Global Hack ในสตาร์ทอัพ 9 สาขาธุรกิจ  Global Connect เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV และเอเชีย  Global Investment เร่งเป้าหมายการลงทุนจากต่างชาติทั้งเอเชีย อเมริกา และยุโรป และ Global Market Place นำสินค้าของสตาร์อัพมาทำการซื้อขายแก่ประชาชน ตั้งเป้า 600 รายจากทั่วโลก เพื่อเปิดช่องทางการตลาดให้คนรู้จักธุรกิจสตาร์ทอัพมากขึ้น และเป็นช่องทางการซื้อขายสินค้าที่สำเร็จรูปแล้วแก่นักลงทุนด้วย

            STARTUP Thailand 2018 จะเป็นเวทีที่แสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะร่วมมือกับทุกประเทศ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพจากภูมิภาคเอเชียและจากทั่วโลก เข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และทำงานร่วมกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไทย นักลงทุนไทย เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพของภูมิภาค  และเพื่อให้ประเทศไทยมี Unicorn รายที่สอง สาม สี่ ต่อจาก OMISE โอมิเซะ สตาร์ทอัพไทยรายแรกที่เป็น Unicorn ระดับพันล้านเหรียญ ได้ในที่สุด

 

URL: 
http://www.most.go.th/main/th/news/executive-news/item/6778-mostpr21925602st
แหล่งที่มา: 
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี