การปะทุของรังสีแกมมาจากดาวนิวตรอนชนกัน

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 26 December 2017

การปะทุของรังสีแกมมาจากดาวนิวตรอนชนกัน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์ประกาศการตรวจจับคลื่นความโน้มถ่วงจากการชนกันของดาวนิวตรอนได้เป็นครั้งแรก เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการปะทุของรังสีแกมมาช่วงสั้นๆ (short gamma-ray bursts) มาจากดาวนิวตรอนชนกันได้



        นักดาราศาสตร์จำนวนมากเชื่อว่าเมื่อดาวนิวตรอนชนกันจะทำให้เกิดลำอนุภาคพลังงานสูงที่เรียกว่า เจ็ท (Jet) พุ่งออกมาโดยเจ็ทอาจจะหันมายังโลกเกือบจะพอดีทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าพลังงานที่ปลดปล่อยออกมามีความเข้มสูงมาก แต่รังสีแกมมาที่ออกมากลับอ่อนกว่าแหล่งกำเนิดอื่นๆที่เคยพบมาก่อนหน้านี้นับหมื่นเท่า


        งานวิจัยล่าสุดได้ทำการสังเกตคลื่นวิทยุที่ตกค้างอยู่บริเวณนั้นหลังจากเกิดการชนกันของดาวนิวตรอนราวๆ 100 วัน โดยทฤษฎีแล้วเมื่อเจ็ทพุ่งออกมา มันจะค่อยๆช้าลงและปลดปล่อยพลังงานออกมาโดยรอบทุกทิศทาง


        แต่ปัญหาคือ พวกเขาไม่สามารถตรวจจับพลังงานจากเจ็ทที่ช้าลงได้


        สิ่งที่ตรวจจับได้กลับเป็นพลังงานที่เรืองอยู่รอบๆการชนของดาวนิวตรอนคล้ายกับฟอง งานวิจัยล่าสุดเชื่อว่าเจ็ทที่พุ่งออกมาอาจจะไม่สามารถทะลุสสารต่างๆที่อยู่รอบๆดาวนิวตรอนคู่ได้ พอชนแล้วไม่ทะลุผ่านก็เลยถ่ายเทพลังงานให้กับสสารรอบๆ แล้วดันสสารเหล่านั้นออกจนเกิดโครงสร้างคล้ายกับฟอง


        พูดง่ายๆว่านักดาราศาสตร์จะไม่สามารถมองเห็นเจ็ทได้ จะเห็นก็แต่สสารและพลังงานที่กระจายรอบๆเท่านั้น


        คำอธิบายนี้ค่อนข้างแตกต่างจากแนวคิดที่นักดาราศาสตร์จำนวนมากเชื่อ แต่งานวิจัยจากทีมนักวิจัยล่าสุดนี้มองว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นการปะทุของรังสีแกมมาชนิดใหม่


        ในตอนนี้เรื่องนี้ยังคงเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์ถกเถียงกันไปก่อน เพราะการชนกันของดาวนิวตรอนเป็นสิ่งที่นักดาราศาสตร์เพิ่งสังเกตได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น


URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3456-neutron-star-smashup-gamma-ray-bursts
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)