การเฉลิมฉลองการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ในสถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งการแข่งกีฬาในสภาพไร้น้ำหนัก การส่งมอบธงห้าห่วง และการบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2024

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 27 September 2021

การเฉลิมฉลองการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ในสถานีอวกาศนานาชาติ ทั้งการแข่งกีฬาในสภาพไร้น้ำหนัก การส่งมอบธงห้าห่วง และการบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส เจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2024

เหล่านักบินอวกาศได้จัดกิจกรรมกีฬาเพื่อเฉลิมฉลองการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนของตนเองในสถานีอวกาศนานาชาติ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีการแข่งขันการว่ายและการยิงในสภาวะไร้น้ำหนัก กีฬาแบบใหม่ “no-handball” และถ่ายวีดีโอจากอวกาศเพื่อใช้ร่วมพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน

ทีมนักบินอวกาศประจำสถานีอวกาศนานาชาติ Expedition 65 ร่วมส่งท้ายในพิธีปิดมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติที่กรุงโตเกียว ด้วยวีดีโอที่ถ่ายจากภายในโมดูลห้องทดลองของญี่ปุ่น “คิโบะ” ที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของสถานีอวกาศ โดยมีอากิฮิโกะ โฮชิเดะ (Akihiko Hoshide) นักบินอวกาศชาวญี่ปุ่นในฐานะตัวแทนประเทศญี่ปุ่น และตอมา แป็สแก (Thomas Pesquet) นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสในฐานะตัวแทนประเทศฝรั่งเศส ร่วมส่งมอบธงสัญลักษณ์ห้าห่วงของการแข่งขันโอลิมปิกและสัญลักษณ์การแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งต่อไปที่กรุงปารีส เพื่อให้สอดคล้องกับพิธีส่งมอบธงสัญลักษณ์ห้าห่วงจากเมืองเจ้าภาพการแข่งขันครั้งที่จะสิ้นสุดลงกับครั้งต่อไป ในช่วงพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิก ที่มีผู้ว่าฯกรุงโตเกียวและนายกเทศมนตรีกรุงปารีสเป็นตัวแทน

นอกจากวีดีโอการส่งมอบธงสัญลักษณ์ห้าห่วงในสถานีอวกาศนานาชาติแล้ว ยังมีวีดีโอที่แป็สแกได้เป่าแซกโซโฟนบรรเลงเพลง “ลามาร์แซแยซ” (La Marseillaise) เพลงชาติของฝรั่งเศสในโมดูล “กูโปลา” (Cupola) ของสถานีอวกาศ วีดีโอนี้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของวีดีโอการบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศสในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งถัดไปในช่วงพิธีปิดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ซึ่งวีดีโอส่วนอื่น ๆ แสดงนักดนตรีบรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศสจากสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงปารีส เช่น หลังคาสนามกีฬาสตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) ที่เคยใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 1998 อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ และลานสเกตในจัตุรัสดีเดอโร ก่อนปิดด้วยการบรรเลงจากสถานีอวกาศนานาชาติ
ส่วนการแข่งขันกีฬาในสภาวะไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศนานาชาตินั้น มีความพยายามดัดแปลงกีฬาให้เข้ากับสภาพดังกล่าว และแบ่งนักบินอวกาศเป็นทีม Soyuz และทีม Crew Dragon ตามยานที่ใช้บรรทุกและพานักบินอวกาศมายังสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งแป็สแกได้โพสลงในทวิตเตอร์ของเขาด้วย

กีฬาแบบแรกคือ “แฮนด์บอลแบบไม่ใช่มือ” (“No-hands” handball หรือ “No-handball”) ดังโพสทวิตเตอร์นี้ (https://twitter.com/Thom_astro/status/1423780526230548480) โดยนักบินอวกาศแต่ละทีมจะอยู่ตรงตัวเชื่อมโมดูลของสถานีอวกาศ มีนักบินอวกาศสองคนทำหน้าที่เป็น “ผู้รักษาประตู” คอยบล็อกไม่ให้ลูกบอลเข้าโมดูลได้ ส่วนนักบินอวกาศผู้เล่นที่เหลือต้องพยายามเป่าให้ลูกบอลเข้าประตูโมดูลของฝ่ายตรงข้ามให้ได้

กีฬาแบบอื่น ๆ ประกอบด้วย
- “การยิงในสภาวะไร้น้ำหนัก” (Weightless shapshooting : https://twitter.com/Thom_astro/status/1423780871761534980) ที่ใช้หนังยางเส้นใหญ่
- “การว่ายในสภาวะไร้น้ำหนัก” (Space swimming : https://twitter.com/Thom_astro/status/1423780686020894721) เพื่อเสริมความประสานกันระหว่างนักบินอวกาศ
- “ยิมนาสติกในสภาวะไร้น้ำหนัก” (Gymnastics in microgravity : https://twitter.com/Thom_astro/status/1423780299243196422)

แต่กิจกรรมเฉลิมฉลองการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ในอวกาศครั้งนี้ ไม่ใช่การเฉลิมฉลองการแข่งขันโอลิมปิกในอวกาศครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้มีนักบินอวกาศชาวรัสเซียวิ่งคบเพลิงของการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 (ที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพ) ในอวกาศนอกตัวสถานี โดยไม่มีการจุดคบเพลิงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และมีการวิ่งคบเพลิงการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1996 (สหรัฐฯเป็นเจ้าภาพ) กับโอลิมปิกฤดูร้อน 2000 (ออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ) แบบไม่จุดคบเพลิงภายในยานขนส่งอวกาศขององค์การนาซา

URL: 
https://www.space.com/astronauts-space-olympics-zero-gravity-sports-2021