ข้อมูลและปริศนาของดาวพฤหัสฯที่มาจากยานอวกาศจูโน
ข้อมูลและปริศนาของดาวพฤหัสฯที่มาจากยานอวกาศจูโน
ล่าสุด นักดาราศาสตร์ตกตะลึงกับข้อมูลที่ได้จากยานอวกาศจูโน
ในช่วงแรกๆ พวกเขาสังเกตเห็นพายุเฮออริเคนที่ขั้วดาวพฤหัสฯจำนวนหลายลูกเบียดเสียดกันอยู่ ซึ่งแต่ละลูกมีขนาดใหญ่พอๆกับโลกของเรา ซึ่งเป็นภาพที่ยิ่งใหญ่และกระทบความรู้สึกอย่างมาก

พายุหมุนจำนวนมากที่ขั้วใต้ของดาวพฤหัสฯ
นี่เป็นครั้งแรกที่นักดาราศาสตร์ได้รายละเอียดพายุที่ขั้วชัดเจนขนาดนี้ เนื่องจากก่อนหน้ายานจูโนไม่มียานอวกาศลำไหนที่โคจรใกล้ขั้วดาวพฤหัสฯในลักษณะนี้มาก่อน

ภาพวงแหวนดาวพฤหัสฯที่ทาบไปบนฉากหลังที่เป็นกลุ่มดาวนายพราน
พายุที่ขั้วเหล่านี้ทำให้ขั้วดาวพฤหัสฯมีลักษณะแตกต่างจากขั้วของดาวเสาร์ซึ่งเป็นดาวยักษ์ใหญ่อย่างชัดเจน แต่เหตุใดขั้วของดาวเคราะห์ทั้งสองจึงแตกต่างกันขนาดนี้เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ อีกทั้งนักดาราศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าพายุเหล่านี้จะพัดอยู่อีกนานแค่ไหน? (ในขณะที่จุดแดงใหญ่เป็นพายุที่พัดมานานร่วมสี่ร้อยปีแล้ว)

จุดเล็กๆสีขาวในภาพคือ เมฆที่มีน้ำแข็งเป็นองค์ประกอบ แต่ละจุดมีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 50 กิโลเมตร
เรื่องน่าตกใจอีกอย่างคือ อุปกรณ์ Microwave Radiometer (MWR) ตรวจจับได้ว่าบริเวณเส้นศูนย์สูตรของดาวพฤหัสฯมีแอมโมเนียกระจายตัวอยู่ตั้งแต่บรรยากาศชั้นบนๆจนถึงความลึกระดับ 350 กิโลเมตรซึ่งเป็นขีดจำกัดของอุปกรณ์ดังกล่าว ดังนั้นแอมโมเนียอาจเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดกระบวนการไหลเวียนของไหลบนดาวพฤหัสฯ แต่ที่ตำแหน่งละติจูดสูงขึ้นมานั้น แอมโมเนียกลับกระจายตัวอย่างไม่สม่ำเสมอ
สนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสฯที่ถูกตรวจจับได้ก็มีความเข้มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่าบริเวณที่ให้กำเนิดสนามแม่เหล็กอยู่ตื้นกว่าที่เคยคิดกันไว้

แสงออโรราบริเวณขั้วใต้ของดาวพฤหัสฯ
ปริศนาใหญ่อีกอย่างคือ แสงออโรรา ซึ่งเกิดจากอิเล็กตรอนวิ่งมาชนกับชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสฯแล้วเกิดการเปล่งแสงออกมา การเคลื่อนไหวของอิเล็กตรอนควรทำให้เกิดสนามแม่เหล็กแผ่ออกมาโดยรอบ แต่ยานจูโนกลับตรวจจับไม่พบ!
อีกทั้งผลการตรวจจับความโน้มถ่วงยังส่อแววว่าแบบจำลองแก่นดาวพฤหัสฯจะมีปัญหา เพราะนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าดาวพฤหัสฯอาจมีแก่นแข็งตรงกลาง หรือ ไม่มีแก่น แต่ข้อมูลเบื้องต้นกลับพบว่าข้อเท็จจริงอาจอยู่ตรงกลางระหว่างทั้งสองทฤษฎี
นั่นคือ ดาวพฤหัสฯอาจมีแก่นขนาดใหญ่มาก แต่ไม่ได้มีขอบเขตที่ชัดเจนนัก
ส่วนจะเป็นอย่างไรต้องรอข้อมูลที่มากขึ้นกันต่อไป