ดวงจันทร์ดาวเสาร์มีองค์ประกอบทางเคมีที่เกิดเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ได้

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 1 August 2017

ดวงจันทร์ดาวเสาร์มีองค์ประกอบทางเคมีที่เกิดเป็นเยื่อหุ้มเซลล์ได้

          นักวิทยาศาสตร์ขององค์การนาซาพบว่าบรรยากาศของดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์นั้นมีสารประเภทอะคริโลไนไตรล์ (acrylonitrile) อยู่ราวๆ 2.8 ในพันล้านส่วนซึ่งถือว่าเป็นปริมาณมาก โดยสารชนิดนี้เป็นสารอินทรีย์ที่เราสามารถนำมาใช้ทำพลาสติกได้ 

 

 

          ความน่าสนใจคือ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสภาพแวดล้อมในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ของดวงจันทร์ไททันซึ่งอยู่สูงจากผิว 200-300  กิโลเมตรอาจทำให้สารดังกล่าวกลายเป็นโครงสร้างที่ยืดหยุ่นคล้ายกับเยื่อหุ้มเซลล์! 

 

          เยื่อหุ้มเซลล์ของสิ่งมีชีวิตบนโลกเรามีโครงสร้างหลักเป็นลิพิดซ้อนกันสองชั้นเรียกว่า lipid bilayer ซึ่งทีมนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานว่าโมเลกุลของสารอะคริโลไนไตรล์อาจก่อตัวเป็นโครงสร้างคล้ายๆกันได้

 

          การก่อตัวของเยื่อหุ้มเซลล์ที่มีเสถียรภาพนั้นมีความสำคัญต่อกำเนิดของสิ่งมีชีวิตมาก เพราะมันเป็นเหมือนกำแพงที่แบ่งกั้นสิ่งแวดล้อมภายนอกกับภายในเซลล์ให้แยกขาดออกจากกัน ซึ่งจะส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างเซลล์

 

          พวกเขาคาดการณ์ว่าสารเหล่านี้มาจากพื้นผิวดวงจันทร์ไททันซึ่งเมื่อคำนวณจากอายุของดวงจันทร์ไททันเพื่อหาว่ามีสารอะคริโลไนไตรล์อยู่ในทะเลสาบ Ligeia ซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองบนไททันมากน้อยแค่ไหน ผลการคำนวณชี้ว่าอาจมีโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ที่เรียกว่า azotosomes ราว 40ล้านตัวต่อปริมาตรหนึ่งช้อนชา! 

 

          อย่างไรก็ตาม เซลล์ที่มีลักษณะอย่างเซลล์พืชและสัตว์บนโลกเราอาจไม่ได้เกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงจันทร์ไททันที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยเพียง -179 องศาเซลเซียส อีกทั้งของเหลวบนพื้นผิวของมันยังเป็นมีเทนเหลวอีกด้วย

 

          การค้นพบในครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances และเกิดจากการสังเกตด้วยกล้องโทรทรรศน์ ALMA ในประเทศชิลี ซึ่งก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์พบสารดังกล่าวจากการสำรวจของยานอวกาศแคสสินีมาแล้ว

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/nso-news/3317-moon-saturn-chemical-membranes
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)