ดาวหางC/2017U1 : ฤาจะเป็นครั้งแรกของการค้นพบวัตถุนอกระบบสุริยะ

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 6 November 2017

ดาวหางC/2017U1 : ฤาจะเป็นครั้งแรกของการค้นพบวัตถุนอกระบบสุริยะ

          เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา Minor Planet Center (MPC) ได้ประกาศการค้นพบดาวหางดวงใหม่ C/2017 U1 คาดว่ามาจากนอกระบบสุริยะ เป็นผลงานของกล้องโทรทรรศน์ PanSTARRS 1 ของหอดูดาวฮาลิยากาลา ที่เกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา

 

ภาพ : Orbit of comet C/2017 U1 – NASA/JPL

 

          ดาวหาง C/2017 U1 ถูกค้นพบครั้งแรกในวันที่ 18 ตุลาคม 2560 ขณะมีค่าความสว่างแมกนิจูด 20 ต่อมาในวันที่ 9 กันยายน 2560 ดาวหางดังกล่าวโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดที่ระยะ 37.6 ล้านกิโลเมตร 

 

          จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าดาวหาง C/2017 U1 มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 160 เมตร มีค่าความรีของวงโคจรสูงถึง 1.19 ทำให้วงโคจรของดาวหางดวงนี้เป็นแบบไฮเพอร์โบลา 

 

          จากการที่วงโคจรของดาวหางดังกล่าวเป็นแบบไฮเพอร์โบลา ทำให้นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวหางดวงนี้น่าจะเป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะ เนื่องจากถ้าค่าความรีวงโคจรมีค่ามากกว่า 1 แสดงว่า วัตถุดังกล่าวจะไม่โคจรรอบดวงอาทิตย์ วัตถุจะผ่านเข้ามาในระบบสุริยะเพียงครั้งเดียวแล้วจะไม่กลับเข้ามาอีก 

 

          ก่อนหน้านี้มีวัตถุเดียวที่น่าจะเป็นวัตถุที่มาจากนอกระบบสุริยะ คือ ดาวหาง Bowell (C/1980 E1) มีค่าความรีวงโคจร 1.05 อย่างไรก็ตามนักดาราศาสตร์คาดว่าการเป็นไฮเพอร์โบลาของดาวหาง Bowell (C/1980 E1) เกิดจากการที่ดาวหางดังกล่าวโคจรเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีในระยะ 35 ล้านกิโลเมตร ผลของแรงโน้มถ่วงของดาวพฤหัสบดีทำให้ดาวหางเคลื่อนที่เร็วขึ้น และทำให้วงโคจรกลายเป็นไฮเพอร์โบลา วัตถุดังกล่าวจึงไม่ถูกนับเป็นวัตถุนอกระบบสุริยะ 

 

          นอกจากนี้ดาวหาง C/2017 U1 ยังมีวงโคจรที่เอียงทำมุมมากถึง 122 องศา เมื่อเทียบกับระนาบวงโคจรของโลก นับว่าหาได้ยาก ตามปกติแล้ววงโคจรของดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ในระบบสุริยะ มีค่าความเอียงของวงโคจรค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 7 องศา) ส่วนดาวเคราะห์แคระ เช่น พลูโตและ อีรีส มีค่าความเอียงของวงโคจรเทียบกับเส้นสุริยวิถี ประมาณ 17 องศาและ 44 องศา ตามลำดับ ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่เช่น พัลลัส ก็มีความเอียงของวงโคจรเพียง 34 องศา เท่านั้น 

 

          ผู้อำนวยการ MPC กล่าวถึงการค้นพบครั้งนี้ว่า “หากมีการศึกษา และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในอนาคต และพบว่าวงโคจรของมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ดาวหางดวงนี้จะอาจเป็นวัตถุแรกที่มาจากนอกระบบสุริยะก็ได้” นักดาราศาสตร์จากทั่วโลกจึงต่างเฝ้าติดตามดาวหางดวงนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อค้นหาข้อมูลมายืนยันสมมติฐานที่มาของดาวหางดวงนี้ต่อไป

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3411-c-2017-u1
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)