ดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นต่ออันตรายต่อโลก (Potentially Hazardous Asteroids) จะเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด 10 กุมภาพันธ์ นี้

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 9 February 2018

ดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นต่ออันตรายต่อโลก (Potentially Hazardous Asteroids) จะเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด 10 กุมภาพันธ์ นี้

          ดาวเคราะห์น้อยที่โคจรเข้ามาใกล้โลกจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว เพราะมีรายงานเกี่ยวกับพวกมันเผยแพร่ออกมาทุกวัน ยกตัวอย่างในช่วงเวลาสุดสัปดาห์นี้(10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561) ก็มีดาวเคราะห์น้อยถึงเจ็ดดวงเคลื่อนที่เข้าใกล้โลก และสองดวงในกลุ่มนั้นเป็นดาวเคราะห์น้อยที่จัดอยู่ในกลุ่มที่อาจเป็นอันตรายต่อโลกได้(PHA:Potentially Hazardous Asteroids) ใหญ่สุดคือ 2002 AJ129 เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 640 เมตร ส่วนอีกดวงคือ 2018 CB ที่จะเฉียดโลกไปด้วยระยะห่าง 70,000 กิโลเมตร ช่วงเวลาที่เข้าใกล้โลกที่สุดของดาวเคราะห์ดวงสำหรับประเทศไทยเป็นรุ่งเช้าของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ เวลา 05:00 น.

 

          ดาวเคราะห์น้อยที่มีโอกาสเป็นอันตรายต่อโลกมีเกณฑ์สำคัญสองประการคือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางอย่างน้อย 328 ฟุต และมีระยะทางตอนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดไม่เกิน 7,500,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะห่างที่มีค่ามากจนเราอาจนึกไม่ถึงว่าวัตถุที่อยู่ห่างขนาดนั้นจะเปลี่ยนทิศทางแล้วมุ่งมายังโลกอย่างไร แต่เนื่องเส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวเคราะห์น้อยสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาเนื่องจากการรบกวนของแรงโน้มถ่วงทั้งจากดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ดวงอื่น รวมทั้งขนาดของพวกมันซึ่งทำความเสียหายแก่มนุษยชาติได้อย่างมหาศาลถ้าถูกพวกมันพุ่งชน ถึงโอกาสที่โลกจะถูกพุ่งชนนั้นมีน้อยมากๆ (จนสามารถบอกได้ว่าพวกมันจะไม่พุ่งชนโลกแน่นอน) และยังไม่มีการค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงใดที่มีโอกาสมากพอจะชนโลกในอีกร้อยปีข้างหน้า แต่เราไม่อาจวางใจได้ว่า เพราะจำนวนดาวเคราะห์น้อยที่โคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นมีจำนวนมหาศาลโอกาสที่มันจะหลงเข้ามาแล้วทำให้เกิดความเสียหายเหมือนที่เกิดขึ้นที่เมื่อง Chelyabinsk ประเทศรัสเซียเมื่อห้าปีที่แล้วอาจเกิดขึ้นอีก ดังนั้นเหล่านักดาราศาสตร์พร้อมด้วยกล้องดูดาวจากทั่วโลกยังคงเฝ้าจับตาดูวัตถุเหล่านี้อยู่ทุกคืน

           2018 CB เป็นดาวเคราะห์ประเภท Apollo คือมีวงโคจรใหญ่กว่าวงโคจรของโลก ถูกค้นพบ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2561 โดยหอดูดาว Catalina Sky Survey ขณะที่มีความสว่างระดับ 19 จากการคำนวณด้วยซอฟต์แวร์ขององค์การนาซา และคาดว่าความสว่างของมันจะเพิ่มขั้นมากที่สุดระดับ 12-13 ซึ่งเพียงพอที่จะเห็นด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดแปดนิ้ว และเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงจากกลุ่มดาวเพอร์เซอุสไปยังกลุ่มดาวปลาคู่

ดาวเคราะห์น้อย 2018 CB ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2561

ภาพถ่ายดาวเคราะห์น้อย 2002 AJ129 ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561

          สำหรับผู้สนใจดาวเคราะห์น้อยสามารถติดตามการถ่ายทอดสดการสังเกตการณ์ได้ผ่าน Virtual Telescope Project โดยจะเริ่มถ่ายทอดสดก่อนเวลาที่ดาวเคราะห์น้อยเข้าใกล้มากที่สุดประมาณสองชั่วโมง

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3503-asteroid-2018-cb-graze-earth
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)