นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ที่ร้อนเท่าดวงอาทิตย์

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 12 June 2017

นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์ที่ร้อนเท่าดวงอาทิตย์

 

          กลุ่มนักดาราศาสตร์ค้นพบโลกแห่งขุมนรกที่มีชื่อว่า ดาวเคราะห์ KELT-9b โดยพื้นผิวของมันมีอุณหภูมิสูงกว่า 4,000 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนเกือบจะเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์ของเรา!  ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงนี้มีมวลประมาณสามเท่าของดาวพฤหัสบดีและใหญ่เป็นสองเท่าของดาวพฤหัสบดี

 

 

          สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้มันร้อนจัดขนาดนี้เป็นเพราะดาวฤกษ์ที่มันโคจรรอบนั้นมีอุณหภูมิสูงเกือบสองเท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งนับว่าสูงมาก อีกทั้งยังมีขนาดใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ร่วมสองเท่า ที่สำคัญคือดาวเคราะห์นี้ยังโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์นี้มากโดยมันใช้เวลาเพียงสองวันในการโคจรครบหนึ่งรอบ 

 

          อย่างไรก็ตาม การที่ดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากเกินไปอาจส่งผลให้มันไม่สามารถอยู่ได้นานมากนัก โดยแก๊สปริมาณมหาศาลที่ประกอบเป็นในชั้นบรรยากาศของมันจะถูกทำลายด้วยรังสีและสูญหายไปในอวกาศ นักดาราศาสตร์กล่าวว่ามันอาจจะดูคล้ายๆกับดาวหางที่โคจรใกล้ดาวฤกษ์ซึ่งนับเป็นกรณีศึกษาที่แปลกประหลาด

 

          “เราค้นพบ ดาวเคราะห์ KELT-9b ในปี 2014 และทำให้เราต้องใช้เวลานานเพื่อโน้มน้าวตัวเองว่าพิภพมหัศจรรย์และแปลกประหลาดนี้เป็นดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์อื่น” ศาสตราจารย์ Scott Gaudi จากมหาวิทยาลัย Ohio State กล่าว

 

          ดาวเคราะห์นี้จะถูกแรงไทดัลดึงดูดไว้กับดาวฤกษ์ของมัน ซึ่งหมายความว่ามันจะหันหน้าเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ของมันอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับดวงจันทร์ของเราที่ไม่เคยปรากฏให้เห็นถึงอีกฟากหนึ่งของมันให้โลกเห็นเลย  ด้านที่โดนแสงของดาวเคราะห์ KELT-9b จะมีอุณหภูมิมากกว่า 4,300 องศาเซลเซียส ซึ่งร้อนกว่าพื้นผิวของดาวแคระแดงโดยเฉลี่ย ซึ่งเป็นดาวฤกษ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในทางช้างเผือก

 

          ดาวฤกษ์แม่ของดาวเคราะห์ KELT-9b นั้นถูกจัดเป็นดาวฤกษ์ชนิด A ตามสเปกตรัม ซึ่งดาวฤกษ์เหล่านี้จะมีอัตราการเผาไหม้สูงและอายุสั้น พวกมันจะเผาไหม้อยู่เพียงไม่กี่ล้านปีแทนที่จะเป็นพันล้านปีเหมือนดวงอาทิตย์ของเรา ดังนั้นไม่นานก่อนที่มันจะเผาผลาญเชื้อเพลิงจนหมดมันจะแผ่รังสีอัลตราไวโอเลตออกไปมหาศาลจนอาจทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ถูกทำลายอย่างสมบูรณ์ 

 

          ทีมนักดาราศาสตร์ได้คำนวณส่วนประกอบที่กำลังสูญหายไป พบว่าอัตราปัจจุบันอยู่ที่ประมาณหมื่นล้านจนถึง 10 ล้านล้านกรัมต่อวินาที ถ้าดาวเคราะห์นี้มีแก่นที่เป็นหิน สุดท้ายแล้วมันอาจเหลือแต่แก่นเปลือยๆ แต่ที่เป็นไปได้ที่สุดคือดาวเคราะห์นี้อาจถูกกลืนกินโดยดาวฤกษ์ของมันไปในที่สุด

 

          การค้นพบนี้เป็นผลการสังเกตด้วยสุดยอดกล้องโทรทรรศน์ระบบโรโบติกส์และเครื่องตรวจวัดระดับทางวิทยาศาสตร์โดยมหาวิทยาลัย Ohio State จากสังเกตการณ์ทั้งในซีกโลกเหนือ และซีกโลกใต้ ด้วยความร่วมมือของมหาวิทยาลัย Vanderbilt, มหาวิทยาลัย Lehigh  และหอดูดาวที่แอฟริกาใต้

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/2983-kelt-9b
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)