นักดาราศาสตร์ค้นพบวิธีมองหาดาวเคราะห์นอกกาแล็กซีครั้งแรก

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 6 February 2018

นักดาราศาสตร์ค้นพบวิธีมองหาดาวเคราะห์นอกกาแล็กซีครั้งแรก


          ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะทุกดวงที่นักดาราศาสตร์เคยค้นพบและมีการประกาศออกมาเป็นข่าวนั้นล้วนอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกของเรา แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่เพิ่งผ่านมานี้ Xinyu Dai และ Eduardo Guerras สองนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอคลาโฮมา (University of Oklahoma)ประกาศการค้นพบวัตถุขนาดเท่าดาวเคราะห์นอกกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก โดยที่มันไม่ได้โคจรไปรอบดาวฤกษ์ดวงไหน



      ตรงกลางคือ กาแล็กซีที่ส่งแรงโน้มถ่วงจนแสงหักเห ส่วนจุดสี่จุดรอบๆคือควอซาร์เดียวกันหมด แต่แยกเป็นหลายดวงเพราะปรากฏการณ์ เลนส์ความโน้มถ่วงแบบไมโคร (Gravitational microlensing)


          วิธีที่พวกเขาใช้เรียกว่า เลนส์ความโน้มถ่วงแบบไมโคร (Gravitational microlensing) เทคนิคนี้ทำให้ค้นพบกลุ่มวัตถุขนาดเท่าดาวเคราะห์ในกาแล็กซีที่อยู่ห่างจากกาแล็กซีทางช้างเผือกถึง 3,800 ล้านปีแสง


           หลักการคือ ความโน้มถ่วงของกาแล็กซีดังกล่าวนั้นทำให้กาลอวกาศรอบๆเกิดความโค้งส่งผลให้เมื่อแสงจากแหล่งกำเนิดที่อยู่ห่างไกลออกไปเดินทางเข้ามาใกล้เกิดการเปลี่ยนเส้นทางเหมือนเคลื่อนที่ผ่านเลนส์ ในที่นี้แหล่งกำเนิดแสงคือ ควอซาร์ RXJ 1131–1231 (quasar RXJ 1331-1231) 


           ความยากคือ มีวัตถุมากมายนับล้านวัตถุในกาแล็กซีที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วงแบบไมโคร  สองนักดาราศาสตร์ จึงใช้วิธีสร้างแบบจำลองว่าถ้ากาแล็กซีมีเพียงดาวฤกษ์และดาวแคระน้ำตาล ผลจากเลนส์ความโน้มถ่วงแบบไมโครจะเป็นอย่างไร ผลจากการสังเกตนั้นไม่ได้ใกล้เคียงกับแบบจำลองเลย แต่เมื่อพวกเขาลองปรับแบบจำลองด้วยการเติมมวลของวัตถุที่มีค่าตั้งแต่มวลดวงจันทร์ไปจนถึงดาวพฤหัสฯ ให้มีการกระจายตัวรอบๆกาแล็กซี ผลออกมาสอดคล้องกับการสังเกตเป็นอย่างดี


           นักดาราศาสตร์ทั้งสองกล่าวว่าวิธีการนี้อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการศึกษาดาวเคราะห์นอกกาแล็กซี  แต่อย่างน้อยในตอนนี้นี่เป็นวิธีเดียวที่ทำให้นักดาราศาสตร์รู้ว่าพวกมันมีตัวตนจริงๆและยังพอบอกการกระจายมวลได้ด้วย


URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3498-probing-planets-in-extragalactic-galaxies
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)