นักดาราศาสตร์ตรวจวัดการหมุนรอบตัวเองของแกนกลางดวงอาทิตย์ที่หมุนเร็วกว่าบริเวณพื้นผิวถึง 4 เท่า

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 17 August 2017

นักดาราศาสตร์ตรวจวัดการหมุนรอบตัวเองของแกนกลางดวงอาทิตย์ที่หมุนเร็วกว่าบริเวณพื้นผิวถึง 4 เท่า

           นักดาราศาสตร์เผยข้อมูลสำคัญที่ได้จากอุปกรณ์ GOLF ของดาวเทียม SOHO เป็นครั้งแรก โดยข้อมูลจากอุปกรณ์ดังกล่าวทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าแกนกลางดวงอาทิตย์หมุนรอบตัวเองด้วยอัตราเร็วประมาณ 1 รอบ/สัปดาห์ หรือเร็วกว่าการหมุนบริเวณพื้นผิวดวงอาทิตย์ถึง 4 เท่า 

 


ภาพดาวเทียม SOHO เครดิต : ESA/ATG medialab

 

          อุปกรณ์ GOLF (Global Oscillations at Low Frequencies) ที่ติดตั้งอยู่บนดาวเทียม SOHO ได้เก็บข้อมูลรูปแบบการสั่นไหวความถี่ต่ำ บริเวณชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ทุก 10 วินาที เป็นเวลายาวนานกว่า 16 ปี โดยสัญญาณที่ได้แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแนว ขึ้น-ลง ของชั้นบรรยากาศซึ่งมีความสัมพันธ์กับการสั่นไหวของโครงสร้างภายในดวงอาทิตย์ ซึ่งการศึกษาในลักษณะนี้คล้ายกับการตรวจวัดลักษณะคลื่นแผ่นดินไหวบนโลก ที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทราบเกี่ยวกับลักษณะชั้นโครงสร้างภายในของโลก

 

          บริเวณแกนกลางของดวงอาทิตย์จะเกิดการสั่นไหวที่เรียกว่า g-wave ซึ่งคลื่นชนิดนี้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาโครงสร้างภายในดวงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี แต่การตรวจวัดคลื่นชนิดนี้เป็นไปได้ยากเนื่องจากสัญญาณที่อ่อนเกินกว่าที่นักดาราศาสตร์จะแยกได้ว่าสัญญาณที่ได้รับเป็นสัญญาณของ g-wave หรือสัญญาณรบกวนกันแน่ แต่ปัจจุบันนักดาราศาสตร์ได้พัฒนากระบวนการวิเคราะห์แบบใหม่รวมกับการวิเคราะห์เชิงสถิติ ทำให้ตรวจวัดสัญญาณ g-wave จากการคาบการเปลี่ยนแปลงของ p-wave ซึ่งสามารถตรวจวัดได้ง่ายบริเวณพื้นผิวของดวงอาทิตย์

 

          การวิเคราะห์ข้อมูลทำให้นักดาราศาสตร์ทราบว่าแกนกลางของดวงอาทิตย์ใช้เวลาหมุนรอบตัวเองประมาณ 7 วัน ซึ่งเร็วกว่าพื้นผิวและโครงสร้างชั้นกลางประมาณ 4 เท่า โดยพื้นผิวชั้นนอกบริเวณเส้นศูนย์สูตรใช้เวลาประมาณ 25 วัน และบริเวณขั้นใต้ใช้เวลาประมาณ 35 วัน 

 

          จากข้อมูลใหม่ๆที่ได้รับ นักดาราศาสตร์สามารถนำไปปรับปรุงแบบจำลองเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมในอดีตของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจถึงส่วนประกอบ ชั้นโครงสร้างภายใน และสนามแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ได้ดียิ่งขึ้น

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11378-20170818-enzease
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)