นาซาทดสอบความพร้อมเกี่ยวกับสภาวะในอวกาศของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์(James Webb Space Telescope) ก่อนส่งขึ้นปฏิบัติภารกิจ

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 17 August 2017

นาซาทดสอบความพร้อมเกี่ยวกับสภาวะในอวกาศของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์(James Webb Space Telescope) ก่อนส่งขึ้นปฏิบัติภารกิจ

          ทีมวิศกรขององค์การนาซาเริ่มขั้นตอนสุดท้ายเพื่อการทดสอบความพร้อมของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ิติดตั้งไปกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) (ดังแสดงในภาพที่ 1) ก่อนส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศในปี ค.ศ. 2018 เพื่อปฏิบัติภารกิจสำรวจเอกภพ หลังจากใช้เวลาในการพัฒนาและก่อสร้างนานกว่า 20 ปี

 


ภาพที่ 1 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope) 

 

          การทดสอบในครั้งนีิ้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์จะต้องอยู่ในห้องสุญญากาศ Chamber A ของศูนย์ปฏิบัติการอวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) (ดังแสดงในภาพที่ 2) ซึ่งมีอุณหภูมิเย็นจัด เป็นเวลานานกว่า 90 วัน เนื่องด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์จะต้องปฏิบัติภารกิจในห้วงอวกาศภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำราวๆ - 232.8 องศาเซลเซียส เพื่อให้แน่ใจว่ากล้องโทรทรรศน์ตัวนี้จะสามารถรับกับสภาวะในอวกาศได้นั่นเอง 

 


ภาพที่ 2 ห้องสุญญากาศ Chamber A ของศูนย์ปฏิบัติการอวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center)

 

          และภาพต่อไปนี้เป็นภาพกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ที่ตั้งอยู่ภายในห้องสุญญากาศ Chamber A ของศูนย์ปฏิบัติการอวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) ในเมืองฮิวสตัน (Houston) ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่ทีมวิศกรจะปิดประตูเพื่อเริ่มทดสอบระบบ (แสดงดังในภาพที่ 3)   Mark Voyton ผู้ควบคุมดูแลการทดสอบ กล่าวว่า ไนโตรเจนเหลวและแก๊สฮีเลียมเย็นถูกนำมาใช้ในการควบคุมความเย็นให้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ตลอดจนอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ อีกด้วย นอกจากนี้การกระบวนการทดสอบดังกล่าว ยังต้องอาศัยเซ็นเซอร์ภายในห้องควบคุม Chamber A ซึ่งมีส่วนสำคัญในการตรวจสอบและวัดผลเพื่อให้เราเข้าใจประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ให้มากที่สุด

 


ภาพที่ 3 กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวลบบ์ที่ตั้งอยู่ภายในห้องสุญญากาศ Chamber A

 

          หลังจากกระบวนการทดสอบครั้งนี้แล้วเสร็จกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์จะถูกส่งไปยัง Northrop Grumman  ใน Redondo Beach รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อเชื่อมต่อกับยานอวกาศและแผงกันแสงอาทิตย์ (Sunshield) ขนาดใหญ่ถึง 5 ชั้น (แสดงดังในภาพที่ 4) ซึ่งมีส่วนสำคัญในการป้องกันอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จากแสงอาทิตย์และรังสีในห้วงอวกาศที่อาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายได้ นอกจากนี้ทีมวิศวกรจะมีการทดสอบที่เรียกว่า observatory-level testing ซึ่งเป็นการทดสอบครั้งสุดท้ายก่อนส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ขึ้นสู่ห้วงอวกาศเพื่อปฏิบัติภารกิจ

 


ภาพที่ 4 แผงปกกันอุปกรณ์วิทยาศาสตร์จากแสงอาทิตย์และรังสีในห้วงอวกาศที่จะติดตั้งไปกับกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์

 

          กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์จะเป็นตัวตายตัวแทนของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของนาซา มันจะเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงพลังที่สุดที่เคยสร้างมา เพื่อปฏิบัติหน้าเสมือนเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ไขปริศนามากมายของเอกภพจากการมองเข้าไปในห้วงลึกของอวกาศที่เราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งนี้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์เป็นโครงการระหว่างประเทศที่องค์การนาซาของสหรัฐฯ ร่วมกับองค์การอวกาศยุโรป หรือ อีซา (European Space Agency : ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency) 

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3329-nasas-webb-telescope-deep-freeze
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)