นาซาเผยภาพการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์อย่างรุนแรงในระดับ X9.3

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 8 September 2017

นาซาเผยภาพการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์อย่างรุนแรงในระดับ X9.3

          เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ.2560 ที่ผ่านมา องค์การนาซาได้เผยภาพการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์ (solar flares) โดยเป็นผลจากการสังเกตการณ์ด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซลาร์ไดนามิกส์ (Solar Dynamics Observatory) เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา และเกิดการลุกจ้าในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรุนแรงจำนวน 2 ครั้ง ในวันเดียวกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 16:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) อยู่ในระดับ X2.2 ครั้งที่2 เกิดขึ้นเวลาประมาณ 19:00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) อยู่ในระดับ X9.3 ทั้งนี้ความรุนแรงทั้ง 2 ครั้ง อยู่ในระดับ (X - class ) จากการจัดหมวดหมู่ของการลุกจ้าโดยองค์การมหาสมุทรและบรรยากาศของสหรัฐอเมริกา หรือ (NOAA) นับว่าเป็นความรุนแรงที่สูงมาก (แสดงดังในภาพ) อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์การลุกจ้าในครั้งนี้ไม่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์บนโลกแต่ความรุนแรงดังกล่าวอาจไปรบกวนระบบการส่ือสารวิทยุคลื่นสั้น สัญญาณGPS และระบบสายไฟฟ้าบนโลกได้

 


ภาพแสดงการลุกจ้า จำนวน 2 ครั้ง บนดวงอาทิตย์ในระดับความรุนแรงสูงจากการสังเกตการณ์
ผ่านฟิลเตอร์ที่มีความยาวคลื่น 131 อังสตรอมโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศโซลาร์ไดนามิกส์
 (Solar Dynamics Observatory) เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560
อนุเคราะห์โดย https://www.nasa.gov/sites/default/files/thumbnails/image/quick_double_x_flare-1041.gif

 

          การลุกจ้าในครั้งนี้เป็นผลมาจากจุดบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) ขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า AR-2673 โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางใหญ่กว่าโลกถึง 3 เท่า จนเราสามารถสังเกตการณ์ได้ด้วยตาเปล่าผ่านฟิลเตอร์กรองแสงดวงอาทิตย์ ซึ่งการลุกจ้าของดวงอาทิตย์ (solar flares) เป็นการเกิดแสงสว่างวาบขึ้นภายในบรรยากาศชั้นโคโรนาและโครโมสเฟียร์ สืบเนื่องจากพลังงานภายในสนามแม่เหล็กที่ถูกสร้างภายในบรรยากาศโครโมสเฟียร์ถูกปลดปล่อยอย่างรวดเร็วในรูปคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเกือบทุกช่วงความยาวคลื่นตั้งแต่วิทยุไปจนถึงรังสีแกมมา ส่วนมากการลุกจ้าจะเกิดขึ้นในบริเวณกัมมันต์ (Active regions) รอบๆ จุดบนดวงอาทิตย์ (Sun Spot) ซึ่งมีสนามแม่เหล็กความเข้มสูงออกมาจากผิวดวงอาทิตย์ชั้นโฟโตสเฟียร์โดยปกติการ  ลุกจ้าอย่างรุนแรงจะปล่อยพลังงานเทียบได้กับระเบิดไฮโรเจนที่หนักถึง 100 ล้านตัน ระเบิดออกมาพร้อมๆ กันเลยทีเดียว

        ทั้งนี้การลุกจ้าขนาดใหญ่บนดวงอาทิตย์นี้เราจะเรียกว่า การลุกจ้าระดับ X จากการจำแนกการลุกจ้าบนดวงอาทิตย์จะแบ่งตามระดับความรุนแรงของการลุกจ้า ดังนี้ ขนาดเล็กที่สุดจะอยู่ในระดับ A - class ตามด้วย B,C,M, และ X คล้ายกับมาตราริกเตอร์วัดแผ่นดินไหว ซึ่งแสดงถึงพลังงานที่เกิดจากการลุกจ้าเพิ่มขึ้น 10 เท่าของตัวอักษรแต่ละตัว ตัวอย่างง่ายเช่น X จะมีค่าพลังงาน 10 เท่า ของระดับ M และมีค่าพลังงานเป็น 100 เท่าของระดับ C นอกจากนี้ตัวอักษรแต่ละตัวจะมีตัวเลขระดับขนาด 1-9 ระดับอีกด้วย 

        การเฝ้าศึกษาเหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและอาจเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาบนดวงอาทิตย์นั้น ช่วยให้มนุษย์เราเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นบนดวงอาทิตย์ได้ อีกทั้งยังเป็นข้อมูลเพื่อใช้ในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตบนโลกของเราได้ในอนาคต

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3355-nasa-solar-flares
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)