นายกเยี่ยมกระทรวงวิทย์ฯ ดร.อรรชกา ปลัดสรนิต โชว์ผลงานเด่น
นายกเยี่ยมกระทรวงวิทย์ฯ ดร.อรรชกา ปลัดสรนิต โชว์ผลงานเด่น

ณ อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี / พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พลเอกวิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นางเมธินี เทพมณี เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และคณะเดินทางเข้าตรวจเยี่ยมกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) พร้อมเข้าร่วมการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2560 และรับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ตลอดจนแผนดำเนินงานของกระทรวงในอนาคต พร้อมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารระดับสูง โดยมี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้การต้อนรับ


ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเสนอรายละเอียด ข้อมูลโครงการต่างๆ ที่ทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัย พัฒนาและผลักดันโดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อก้าวไปสู่ Thailand 4.0 นอกจากนี้ได้นำเยี่ยมชมนิทรรศการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องการขับเคลื่อนในปี 2560-2561 อันได้แก่ โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2), โครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ( EECI ), โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Startup ), เมืองนวัตกรรมอาหาร ( Food Innopolis ), โครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ( InnoAgri ), บัญชีนวัตกรรม อาทิ นวัตกรรมด้านการแพทย์ ผลงานเยาวชน NSC และต่อกล้าให้ เติบใหญ่ มิวอาย เป็นต้น


โครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา (THEOS-2) สามารถเพิ่มศักยภาพและต่อยอดงานวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ ผ่านศูนย์วิจัยและพัฒนาดาวเทียม รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ และเพิ่มศักยภาพในด้านการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แบบ องค์รวมใน 6 ด้าน ตามความต้องการของผู้ใช้หลัก อันได้แก่ 1. ด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 2. ด้านการบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม 3. ด้านการจัดการภัยพิบัติ 4. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ 5. ด้านความปลอดภัยทางสังคมและความมั่นคงของชาติ และ 6. ด้านการจัดการเมือง


โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (INNOVATIVE STARTUP) จากการดำเนินงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านหลักสูตรการเป็นผู้ประกอบการ มีผลการดำเนินงาน จำนวน 9 หลักสูตร 29,000 คน ด้านพัฒนาย่านธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ มีผลการดำเนินงาน 27 มหาวิทยาลัย ในด้านพัฒนาศูนย์แนวความคิดสู่ธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ มีผลการดำเนินงาน 510 ทีมและในด้านสนับสนุนเพื่อเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ มีผลการดำเนินงาน 103 โครงการ


EECi โครงการยกระดับและพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นการสร้างพื้นที่ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมอย่างสมบูรณ์แบบ หรือ เป็นเมืองนวัตกรรม (Innovation City) เป็นต้นแบบของการพัฒนางานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในลักษณะองค์รวม ที่เน้นการบูรณาการการทำงานร่วมกันตามแนวทางประชารัฐมีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
บัญชีนวัตกรรม ส่งเสริมให้มีการพัฒนานวัตกรรมภายในประเทศ เพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ขึ้นบัญชีนวัตกรรม เช่น ชุดดามกระดูกภายนอกบริเวณข้อศอกชนิดปรับมุมและปรับยืดได้ ,นวัตกรรมด้านการแพทย์ ,พื้นสังเคราะห์ ประเภท B ผสมเม็ดยางธรรมชาติ, เครื่องเอสพีอาร์แบบภาพและระบบฟลูอิดิก เป็นต้น


เมืองนวัตกรรมอาหาร ( Food Innopolis ) พื้นที่แห่งนี้จะเป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสินค้าและนวัตกรรมอาหารมูลค่าสูง ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำของโลก อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์อาหารทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกสำหรับผู้รักการกินเพื่อสุขภาพ ผู้เป็นเบาหวาน ผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก และผู้ต้องการควบคุมระดับไขมันในเลือด,ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการทำการเกษตรและปศุสัตว์ เน้นการใช้สารสกัดจากธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมพื้นฐาน 3 ประการ คือ อาหารปลอดภัย ความมั่นคงทางด้านอาหาร และความมั่นคงทางด้านเกษตรกรรม เป็นต้น
โครงการพัฒนาเกษตรกรด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (InnoAgri) เป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ทางการเกษตร ที่ผ่านการวิจัยและพัฒนาแล้วถ่ายทอดไปยังเกษตรกร เพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในแก้ไขปัญหาทางการเกษตรที่เหมาะสม ทันต่อโลกาภิวัฒน์ พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตด้วยวิทยาการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม พัฒนามาตรฐานการผลิต การแปรรูปด้วยวิทยาการทางด้านอาหารและเภสัช และ การจัดจำหน่าย ด้วยวิทยาการด้านการตลาด ที่สามารถเพิ่มปริมาณผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผล สร้างความยั่งยืนในการผลิตภาคเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างมั่งคั่งและมั่นคง


นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีนโยบายที่สำคัญในการส่งเสริมความสนใจของเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) การปลูกฝัง วทน. สู่เยาวชนและเด็กรุ่นใหม่ผ่านทางสื่อและกิจกรรมต่างๆ การสร้างความสนใจของเยาวชนด้วยโครงการวิทยาศาสตร์ การประกวดแข่งขันของ วทน. ของหน่วยงานต่างๆ และสามารถต่อยอดได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ สื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่เข้าถึงเยาวชนได้โดยง่าย เป็นสื่อกลางในการเปลี่ยนมุมมองของเยาวชนให้หันมาสนใจด้าน วทน. มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความพร้อมที่จะขับเคลื่อนงานด้าน วทน. ของประเทศเพื่อการพัฒนา ให้สอดคล้องต่อทิศทางนโยบายของรัฐบาล เพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง นำพาประเทศไทยสู่ Thailand 4.0
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี