บรรยากาศชั้นโคโรนาขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงปี 2017

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 17 August 2017

บรรยากาศชั้นโคโรนาขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงปี 2017

          ภาพที่เห็นนี้คือ แบบจำลองบรรยากาศชั้นโคโรนาของดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 2017  ซึ่งสร้างขึ้นจากข้อมูลของหน่วยงาน National Solar Observatory Integrated Synoptic Program (NSO/NISP)   นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงน่าจะมีลักษณะคล้ายๆกับดวงอาทิตย์ที่หมุนย้อนกลับไปหนึ่งรอบก่อนหน้าการเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง

 

 

          ในภาพมีลมสุริยะพุ่งออกจากดวงอาทิตย์ตามเส้นที่เหยียดยาวออกไป ส่วนเส้นที่แสดงถึงการการกักพลาสมาในบรรยากาศชั้นโคโรนาจะมีการวกกลับมาเป็นวงซึ่งจะปรากฏสว่างมาก

          Gordon Petrie นักดาราศาสตร์จาก NSO  คาดหวังว่าจะสังเกตเห็นเส้นจางๆที่พุ่งจากขั้วเหนือมายังขั้วใต้ของดวงอาทิตย์ซึ่งเรียกว่า polar plumes รวมทั้งโครงสร้างสุกสว่างคล้ายๆกระเปาะเล็กๆบริเวณเส้นศูนย์สูตรซึ่งเรียกว่า  helmet streamers

          แม้ว่านักดาราศาสตร์ไม่สามารถศึกษาเส้นแรงแม่เหล็กของดวงอาทิตย์ได้โดยตรง แต่พวกเขาสามารถทำการสังเกตแก๊สร้อนจัดในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเป็นเกลียวตามเส้นแรงแม่เหล็กได้  ซึ่งสามารถนำมาสร้างแบบจำลองสนามแม่เหล็กรอบดวงอาทิตย์ได้

          ปกตินักดาราศาสตร์บนโลกไม่สามารถทำการสังเกตโคโรนาได้ เนื่องจากแสงอาทิตย์ที่สว่างจ้ากลบแสงจากโคโรนาจนหมด แต่สุริยุปราคาเต็มดวงในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ จะทำให้นักดาราศาสตร์สังเกตการณ์โคโรนาได้ นอกจากนี้โครงการในอนาคตที่กำลังจะเกิดขึ้น ด้วยความร่วมมือของ NSF และกล้องโทรทรรศน์ Inouye Solar Telescope (DKIST) จะทำให้นักดาราศาสตร์สามารถสังเกตโคโรนาได้โดยไม่ต้องรอสุริยุปราคาเต็มดวง

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3327-sun-corona-2017
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)