ปส. เตรียมความพร้อมไทยก่อนเวิร์กชอปอนุสัญญาความปลอดภัย เชื้อเพลิงใช้แล้วและกากกัมมันตรังสีในภูมิภาคเอเชีย

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 19 April 2017

ปส. เตรียมความพร้อมไทยก่อนเวิร์กชอปอนุสัญญาความปลอดภัย เชื้อเพลิงใช้แล้วและกากกัมมันตรังสีในภูมิภาคเอเชีย

original 1383618546771

          กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) จัดประชุมเตรียมความพร้อมหน่วยงานไทยก่อนเป็นเจ้าภาพจัดเวิร์กชอประดับภูมิภาคเอเชีย เรื่อง อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วและกากกัมมันตรังสีช่วงปลายพฤษภาคมนี้ หวังเตรียมประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาในอนาคต

 

         ดร. อัจฉรา วงศ์แสงจันทร์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2560 นี้ ปส. จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชีย เรื่อง อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วและการจัดการกากกัมมันตรังสี โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) และผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศในภูมิภาคเอเชียมาแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว ปส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักของประเทศในการประสานงานและดำเนินการตามพันธกรณีกับ IAEA จึงจัดประชุมเตรียมความพร้อมก่อนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วและการจัดการกากกัมมันตรังสีในวันที่ 20 เมษายน 2560 ณ ห้องประชุม 103 อาคาร 4 ปส.ให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้ความรู้พื้นฐานด้านการจัดการกากกัมมันตรังสี การจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว สาระสำคัญในอนุสัญญาฯ และขั้นตอนการเข้าร่วมภาคีในอนุสัญญา โดยหวังว่าการประชุมในครั้งนี้จะช่วยเตรียมการให้ประเทศไทยเกิดความพร้อมและสามารถเข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศระดับภูมิภาคที่จะมาถึงในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปสู่การเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาอย่างมีประสิทธิผลมากที่สุด       

     

         อนุสัญญาร่วมว่าด้วยความปลอดภัยในการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วและการจัดการกากกัมมันตรังสี (Joint Convention on the Safety of Spent Fuel Management and on the Safety of Radioactive Waste Management)เริ่มก่อตั้งในปี พ.ศ. 2540 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็น ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการจัดการด้านความปลอดภัยระดับสูงสำหรับกิจกรรมด้านการจัดการเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วและการจัดกากกัมมันตรังสี ทั้งนี้ IAEA ได้มีความพยายามผลักดันประเทศสมาชิก ทุกประเทศให้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญา โดยล่าสุดมีประเทศที่เข้าร่วมภาคีแล้วจำนวน 69 ประเทศ ทั้งนี้    ในปัจจุบันประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิก IAEA ยังไม่ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว

 

          ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ของการที่ประเทศไทยจะได้รับเมื่อเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาฯ คือ ประเทศไทยจะได้รับการพัฒนามาตรฐานด้านความปลอดภัยและความโปร่งใสในการจัดการกากกัมมันตรังสีของประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและมีความทัดเทียมกับประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ นอกจากนี้ ประเทศไทย ยังสามารถเข้าร่วมประชุมในเวทีระดับต่างๆ ร่วมกับนานาประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ  เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยและนโยบายในการจัดการกากกัมมันตรังสีและเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว รวมทั้งสามารถให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ และขอความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ การขอรับทราบข้อมูลด้านความปลอดภัยของการจัดการกากกัมมันตรังสี และเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของประเทศเวียดนาม ซึ่งมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอนาคตซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยได้

 

 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักกำกับดูแลความปลอดภัยทางรังสี สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ โทรศัพท์ 0 2596 7600 ต่อ 1523

โดย กลุ่มส่งเสริมฝึกอบรมและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ

โทรศัพท์ ๐ ๒๕๙๖ ๗๖๐๐ ต่อ  ๑๑๒๓ - ๑๑๒๗

 

 

URL: 
http://www.most.go.th/main/th/news/executive-news/380-activity-news/6239-safty
แหล่งที่มา: 
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี