พืชล้วนๆ ไม่มีวัวผสม! “3D-PRINTED PLANT-BASED STEAK” เมื่อนวัตกรรมทำให้พืชผักกลายร่างเป็นสเต็ก

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 25 August 2021

พืชล้วนๆ ไม่มีวัวผสม! “3D-PRINTED PLANT-BASED STEAK” เมื่อนวัตกรรมทำให้พืชผักกลายร่างเป็นสเต็ก

เห็นแค่ภาพก็นึกว่า “เนื้อจริง” รู้หรือไม่ ยุคนี้กินสเต็กได้ด้วยการพิมพ์เนื้อจากพืชแล้ว!

ปัจจุบันคนเริ่มคุ้นเคยกับเนื้อจากพืชหรือ Plant-based Meat มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก นอกจากรูปลักษณ์และรสสัมผัสจะใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงๆ แล้ว ยังดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

เทรนด์ที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยข้อมูลของ Million Insights ได้ประเมินมูลค่าตลาด Plant-based Meat ทั่วโลกในปี 2019 ไว้กว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราแนวโน้มที่เติบโตขึ้นกว่า 19.4% ในช่วงปี 2020 ถึง 2027

ขณะที่ตลาด Plant-based Meat ของไทยเอง บริษัท วี ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ที่ลงเล่นในสังเวียนนี้เช่นกัน ได้ประเมินมูลค่าไว้ประมาณ 10-20 ล้านบาท แม้ตอนนี้จะยังไม่แมสมาก แต่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตถึง 30-40% ต่อปีเลยทีเดียว

ปกติแล้ว Plant-based Meat ไม่ได้มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนมากนัก โดยมีการใช้โปรตีนจากพืชและสารสกัดจากธรรมชาติมาผสมรวมกัน แล้วนำมาขึ้นรูปเป็นเนื้อได้หลายวิธีแต่ความท้าทายของการเนรมิตเนื้อจากพืชนั้น จะอยู่ที่การทำยังไงให้ผลิตภัณฑ์มีรูปลักษณ์และรสสัมผัสใกล้เคียงกับเนื้อจริงๆ ให้ได้มากที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีนวัตกรรมเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต นั่นก็คือเทคโนโลยี “3D Printing”

“3D Printing” จริงๆ แล้วเป็นเทคโนโลยีที่ถูกใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งการแพทย์ การก่อสร้าง รวมถึงการทำอาหารเองก็มีใช้อยู่แล้ว เช่น การผลิตช็อกโกแลต ลูกอม หรือชีส ด้วยจุดเด่นในการช่วยรังสรรค์รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ได้ตามต้องการ ควบคุมปริมาณวัตถุดิบได้อย่างแม่นยำ ตลอดจนขึ้นรูปด้วยความรวดเร็ว “Redefine Meat” สตาร์ทอัพด้าน FoodTech สัญชาติอิสราเอล เห็นท่าดีจึงได้นำนวัตกรรมนี้มาประยุกต์ใช้ในการผลิต Plant-based Meat อย่างจริงจังเป็นครั้งแรกของโลก

ในปี 2018 พวกเขาได้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ในชื่อ “Alt-Steak” ซึ่งเป็นการใช้ 3D Printing ที่ใช้หมึกพิมพ์จากพืชหลากหลายชนิด ได้แก่ ถั่วเหลือง ไขมันมะพร้าว โปรตีนถั่ว สีและกลิ่นจากธรรมชาติ โดยใช้สูตร Alt-Fat, Alt-Blood และ Alt-Muscle เหมือนกับการจำลอง ชั้นไขมัน เลือด สีของเนื้อ แล้วพิมพ์ซ้ำๆ จนกลายเป็นเนื้อสเต็กที่คล้ายเนื้อจริงที่สุด

ปัจจุบัน Redefine Meat สามารถพิมพ์เนื้อด้วยความเร็วกว่า 10 กิโลกรัมต่อชั่วโมง และได้เริ่มวางจำหน่ายจริงแล้วในเดือน กรกฎาคม ช่วงปี 2021 ที่ผ่านมานี้เอง ส่งผลให้ Redefine Meat ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนได้รับเงินลงทุนจากหลายแห่ง กว่า 29 ล้านดอลลาร์สหรัฐและได้เป็นสตาร์ทอัพระดับ Series A ในที่สุด แต่การผลิตเนื้อจากพืชด้วย 3D Printing ก็ไม่ได้มี Redefine Meat ที่เป็นเจ้าของนวัตกรรมอยู่เจ้าเดียว “Novameat” สตาร์ทอัพด้าน FoodTech จากประเทศสเปน ก็วิ่งตามติดกันมา ด้วยการผลิตสเต็กเนื้อแบบวีแกนในชื่อ Steak 2.0 โดยมีการใช้วัตถุดิบที่แตกต่างออกไป ได้แก่ โปรตีนจากถั่ว โปรตีนจากข้าว และเส้นใยจากสาหร่าย ซึ่งให้รสสัมผัสที่แตกต่าง นอกจากนั้น Novameat ยังคิดค้นเนื้อหมูแบบ Plant-based ด้วยการใช้ 3D Printing อีกเช่นกัน ซึ่งเป็นต้นแบบที่ยังต้องพัฒนาต่อไป แถมยังมีแผนการผลิตอกไก่และสเต็กทูน่าจากพืชอีกในอนาคต ซึ่งต้องคอยติดตามกันต่อไปว่าจะพัฒนาไปถึงระดับไหน หากนวัตกรรมนี้ถูกใช้อย่างแพร่หลายและนำไปใช้จริงทั่วโลกจะเกิดประโยชน์ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค เพราะผลิตเนื้อได้รวดเร็วกว่า รวมถึงสามารถควบคุมโภชนาการ สร้างรสชาติหรือผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับผู้บริโภคได้ ตลอดจนลดการเร่งผลิตจากอุตสาหกรรมฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งในระยะยาวจะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน การผลิต Plant-based Meat ด้วย 3D Printing จึงเป็นโอกาสใหม่ของอุตสาหกรรมอาหาร เพราะเมื่อผลิตได้มากขึ้นเร็วขึ้น คนก็อาจเข้าถึง Plant-based Meat ได้ง่ายขึ้น หรือราคาถูกลงจนคนส่วนใหญ่สามารถจับต้องได้มากกว่าเดิม แม้ปัจจุบันนวัตกรรมนี้ยังไม่ถูกใช้กับอุตสาหกรรมในไทย แต่อนาคตอันใกล้หากตลาดวีแกนในเมืองไทยโตกว่านี้คงจะมีอย่างแน่นอน สุดท้ายสตาร์ทอัพไหนที่เห็นความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น สร้างวิถีการกินเพื่อเป็นประโยชน์แก่ตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม ก็สามารถเข้ามาอ่านรายละเอียดและร่วมกับโครงการ SPACE-F ได้ที่นี่ https://www.space-f.co/

URL: 
https://www.nia.or.th/3DPrintedPlantbasedMeat