ภาพกาแล็กซีชนกันอันน่าทึ่งจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 21 December 2017

ภาพกาแล็กซีชนกันอันน่าทึ่งจากกล้องโทรทรรศน์ฮับเบิล

          NGC 5256 เป็นวัตถุท้องฟ้าหนึ่งที่สวยงามและมีรูปทรงแปลกตาอย่างยิ่ง ที่ใจกลางของวัตถุนี้สว่างไสวไปด้วยแก๊สและฝุ่นที่หมุนวนอย่างรุนแรง ส่วนบริเวณรอบๆมีลักษณะเหมือนของเหลวที่สาดกระจายทั่ว มันเป็นวัตถุที่อยู่ห่างจากโลกราว 350 ล้านปีแสง ในทิศทางของกลุ่มดาวหมีใหญ่

 

          เหตุที่รูปร่างมันแปลกประหลาดแบบนี้เป็นเพราะมันไม่ใช่กาแล็กซีเดี่ยวๆ แต่เป็นกาแล็กซีสองกาแล็กซีที่เข้ามาชนกัน โดยในตอนนี้ใจกลางของกาแล็กซีทั้งสองอยู่ห่างกันราว 13,000 ปีแสง

          แม้กาแล็กซีชนกันเป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในเอกภพ  แต่มันสร้างความน่าสนใจให้กับนักดาราศาสตร์ได้ทุกครั้งที่เห็นเพราะการชนกันของกาแล็กซีทำให้เกิดโครงสร้างแปลกๆได้อย่างหลากหลาย 

          การชนกันของกาแล็กซีนั้นไม่เหมือนรถชนกัน เพราะมันเป็นการชนกันอย่างเงียบงัน 

          ที่ว่าเงียบงันนั้นด้วยสาเหตุสองข้อ

          1. ในอวกาศไม่มีอากาศ มันจึงไม่มีเสียงของการชน

          2.ในการชนกันแต่ละครั้ง ดาวฤกษ์ต่างๆในกาแล็กซีเคลื่อนผ่านกันไปโดยแทบจะไม่ชนกันตรงๆเลย เนื่องจากกาแล็กซีเป็นโครงสร้างที่เต็มไปด้วยที่ว่าง แต่การชนกันก็ยังทำให้โครงสร้างของกาแล็กซีทั้งสองบิดเบี้ยวผิดรูปผิดร่างไปได้เนื่องจากมวลมหาศาลทั้งสองกาแล็กซีส่งแรงโน้มถ่วงกระทำต่อกันและกัน การเปลี่ยนแปลงรูปร่างนี้กินเวลายาวนาน  NGC 5256 เป็นตัวอย่างหนึ่งของกาแล็กซีที่ชนกันและยังไม่เข้าสู่สภาวะเสถียร กว่ามันจะเข้าสู่สภาวะเสถียรได้ต้องใช้เวลาอีกหลายล้านปี

          หากสังเกต NGC 5256  อย่างละเอียดจะพบว่าที่ใจกลางของทั้งสองกาแล็กซีนี้มีหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราสามารถเก็บภาพใจกลางของกาแล็กซีทั้งสองไว้ได้ด้วยการตรวจจับรังสีเอกซ์ แก๊สที่กระจายตัวอยู่รอบๆใจกลางกาแล็กซีทั้งสองมีอุณหภูมิสูงมาก เนื่องจากคลื่นกระแทกที่เกิดการพุ่งชนกันอย่างรุนแรงของกลุ่มแก๊ส

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3452-hubble-ngc-5256
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)