รัสเซียและสหรัฐอเมริกาประกาศลงนามความร่วมมือพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 10 October 2017

รัสเซียและสหรัฐอเมริกาประกาศลงนามความร่วมมือพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่

          องค์การอวกาศ Roscosmos ของรัสเซียประกาศแผนของภารกิจ Luna 27 ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้งและอาจเป็นภารกิจแรกของการส่งมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์หลังจากองค์การนาซาของสหรัฐฯ เคยส่งมนุษย์ไปในปี ค.ศ. 1969 ซึ่งตามแผนขององค์การ Roscosmos จะส่งยานอวกาศไปเทียบท่าที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในปี ค.ศ. 2023 หลังจากนั้นปี ค.ศ. 2025 จะส่งยานหุ่นยนต์ลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์ก่อนที่จะส่งยานพร้อมนักบินอวกาศลงไปในปี ค.ศ. 2029 ก่อนหน้านั้นในปี ค.ศ. 1997 รัสเซียได้มีโครงการที่เรียกว่า Luna-Globb เป็นโครงการส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ โดยประกอบด้วย Luna 25 ส่งไปลงบริเวณด้านไกลของดวงจันทร์ และอีกลำคือ Luna 26 ส่งไปโคจรรรอบดวงจันทร์ ซึ่งทางรัสเซียได้ผลักดันโครงการ Luna-Globb อย่างต่อเนื่อง

 


ภาพจำลองของยานอวกาศในโครงการ Luna-Globb 
[Credit ภาพ : http://www.russianspaceweb.com/luna_glob.html]

 

          ล่าสุดในวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2017 ที่ผ่านมา องค์การอวกาศ Roscosmos ของรัสเซียประกาศลงนามความร่วมมือกับองค์การนาซาของสหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาสถานีอวกาศแห่งใหม่ที่ชื่อว่า Deep Space Gateway ที่โคจรระหว่างโลกและดวงจันทร์ ณ งานประชุมวิชาการการบินอวกาศนานาชาติ ครั้งที่ 68 (68th International Astronautical Congress) ในเมืองแอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ของทั้งสองประเทศเป็นการสะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของการสำรวจอวกาศที่มีร่วมกัน

 

          องค์การนาซานั้นเปิดเผยข้อมูลของโครงการสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่ตั้งแต่เดือนมีนาคม  ค.ศ. 2017 ว่า    ในช่วงเวลาที่ผ่านมานาซาได้รับการติดต่อจากหน่วยงานเชิงพาณิชย์เกี่ยวกับโครงสร้างแบบจำลองสถานีอวกาศแห่งใหม่ผ่านโครงการ Next Space Technologies for Exploration Partnerships (NextStep) ซึ่งเป็นโครงการสำรวจความร่วมมือเพื่อพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีด้านที่อยู่อาศัยและการขนส่งในอวกาศ และตามรายงานจากงานประชุมครั้งนี้ นาซากล่าวว่าจากแบบจำลองทั้งหมดที่ส่งเข้ามาในโครงการ มี 5 แบบจำลองที่ได้รับคัดเลือกให้พัฒนาต้นแบบวิศวกรรมระบบภาคพื้นดินอย่างเต็มรูปแบบ 

 

ภาพแบบจำลองของแนวคิด Deep Space Gateway [Creditภาพ: NASA]

 

          โครงการนี้มีโครงร่างมาจากการที่องค์การนาซามีแผนจะขยายพื้นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ แนวคิดเริ่มต้นของ   นาซาคือสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่แล้วส่งขึ้นไปโคจรระว่างโลกและดวงจันทร์ด้วยจรวดและยานอวกาศโอไรออน (Orion) ซึ่งเป็นระบบการขนส่งเพื่อสำรวจอวกาศแบบใหม่ นอกจากนี้การสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่นี้อาจต้องพึ่งพายานโปรตอน (Proton) และ แองการา (Angara) ของรัสเซียเพื่อช่วยลำเลียงเครื่องมือขึ้นสู่อวกาศ 

 

          Robert Lightfoot รักษาการผู้บริหารองค์การนาซาได้กล่าวในงานประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 2017 ว่า “ในขณะที่แนวคิดเรื่อง Deep Space Gateway เป็นเพียงแผนการที่กำหนดไว้ แต่นาซากลับยินดีที่เห็นหน่วยงานนานาชาติต่างให้ความสนใจกับแนวคิดนี้ซึ่งจะเป็นอีกขั้นของความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศของมนุษย์”

 

          ในส่วนของรัสเซียนั้น Lgor Komarov หัวหน้าองค์การอวกาศ Roscosmos กล่าวในงานเดียวกันว่า “ขั้นตอนแรกของโครงการนี้จะเกี่ยวข้องกับการสร้างส่วนประกอบของสถานีอวกาศก่อน  โดยเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานีอวกาศแห่งใหม่นี้อาจสามารถนำมาประยุกต์ใช้บนพื้นผิวดวงจันทร์และดาวอังคารได้ในภายหลัง” เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “อีกส่วนหนึ่งของรัสเซียในโครงการนี้คือพัฒนาโครงสร้างส่วนประกอบของสถานีอวกาศแห่งใหม่ให้ได้ถึง 3 ส่วนประกอบ นอกจากนี้ยังกำหนดมาตรฐานสำหรับระบบเชื่อมต่อที่สามารถรองรับยานอวกาศของประเทศต่างๆได้ด้วย” 

 

          และการลงนามความร่วมมือขององค์การอวกาศ Roscosmos กับองค์การนาซาถือเป็นการยืนยันแนวคิดของโครงการส่งมนุษย์ไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้งในปี 2029 ของรัสเชียที่ประกาศไว้ในปี 2015 ซึ่งจากความร่วมมือกับองค์การน่าซ่าในครั้งนี้ทำให้โครงการไปดวงจันทร์ของรัสเชียมีความเป็นไปได้มากขึ้น 

 

แล้วคุณคิดว่ามนุษย์จะสามารถไปเยือนดวงจันทร์ได้อีกครั้งหรือไม่

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-news/3387-deep-space-gateway
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)