วว.จัดค่ายจีโอพาร์ค @ สถานีวิจัยฯสะแกราช พัฒนาบุคลากรส่งเสริมการศึกษา 26 โรงเรียนด้านวิทย์ หนุนอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก สร้างคุณค่านครราชสีมาเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จัดค่ายจีโอพาร์ค พัฒนาบุคลากร ส่งเสริมการศึกษาด้านวิทย์ให้แก่เยาวชน 26 โรงเรียน ภายใต้การดำเนินงานโครงการพิเศษเชิงวิทยาศาสตร์ สนับสนุนอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก สร้างคุณค่าให้จังหวัดนครราชสีมากลายเป็นดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก “The UNESCO Triple Crown”
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ตามที่จังหวัดนครราชสีมา วว. และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ “อุทยานธรณีโคราช : Khorat Geopark” ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีโลก ภายในปี 2562 ซึ่งจะสร้างคุณค่าให้จังหวัดนครราชราชสีมากลายเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก หรือ The UNESCO Triple Crown” โดยในปัจจุบัน มี 3 ประเทศที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก” ได้แก่ อิตาลี เกาหลี และจีน ประเด็นการชี้วัดประการหนึ่งในการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ก็คือนักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายจีโอพาร์ค จำเป็นต้องได้รับการศึกษาพิเศษภายใต้โครงการพิเศษเชิงวิทยาศาสตร์ ตามประเด็นการชี้วัดด้านการสื่อสารและการให้ความรู้ ทั้งนี้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการภายใต้ประเด็นชี้วัดดังกล่าว ผ่านโครงการ “ค่ายจีโอพาร์ค” ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายจีโอพาร์คโคราช โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 10 รุ่น ( 3 วัน 2 คืน/รุ่น) มีคณะครูและนักเรียนเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,184 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฝึกอบรมนักเรียนในโรงเรียนจีโอพาร์คของจังหวัดนครราชสีมา ให้เกิดการรับรู้ เรียนรู้และเป็นแกนนำเยาวชนในการดำเนินงานเกี่ยวกับโคราชจีโอพาร์คและการอนุรักษ์ตามแนวทางขององค์การยูเนสโก และเพื่อเตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินการจัดตั้งเป็นจีโอพาร์คประเทศและจีโอพาร์คโลกต่อไป
“…สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลที่อยู่ในโปรแกรมโครงการมนุษย์และชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก เป็นพื้นที่สำหรับการศึกษาวิจัยเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านธรรมชาติวิทยาของป่าเขตร้อน พื้นที่ประมาณ 48,800 ไร่ จึงเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมในการส่งเสริมการศึกษาสำหรับเยาวชน เนื่องจากมีบุคลากร สถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก และองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยา และความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถตอบสนองการศึกษาพิเศษภายใต้โครงการดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เยาวชน สามารถฝึกฝนทักษะการทำงานร่วมกัน ความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารที่ดี ผ่านการเรียนรู้จากปัญหาจริงจากสิ่งแวดล้อมที่ยังคงความเป็นธรรมชาติ และยังมีความสมบูรณ์แห่งหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…” ผู้ว่าการ วว.กล่าว
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าวต่อว่า เพื่อดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง ในระหว่างวันที่ 27-29 มีนาคม 2562 วว. จะมีการจัดค่ายจีโอพาร์ค รุ่นที่ 11 ขึ้น ณ สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานธรณีโคราช โดยมีคณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนเครือข่ายจีโอพาร์คโคราช จำนวน 168 คน จากจำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ 1.โรงเรียนโคราชพิทยาคม 26 คน 2.โรงเรียนมหิศราธิบดี 22 คน 3.โรงเรียนสุธรรมพิทักษ์ 21 คน 4.โรงเรียนสุรนารี 39 คน 5.โรงเรียนสูงเนิน 23 คน 6.โรงเรียนสีคิ้ว "สวัสดิ์ผดุงวิทยา" 15 คน และ 7.โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย 22 คน
อนึ่งในปัจจุบันมีโรงเรียนเครือข่ายจีโอพาร์คโคราช จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 26 โรงเรียน ประกอบด้วย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 31 จำนวน 6 โรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 1 จำนวน 4 โรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 2 จำนวน 3 โรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 4 จำนวน 9 โรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 5 จำนวน 1 โรงเรียน และสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3 โรงเรียน โดยมีนักเรียนในระดับประถมศึกษา-ระดับมัธยมศึกษารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 17,000 คน
สำหรับผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ “ค่ายจีโอพาร์ค” นั้น วว. และหน่วยงานพันธมิตร คาดหวังว่า จะก่อให้เกิดการพัฒนาบุคลากรได้แกนนำนักเรียนหรือเยาวชนจีโอพาร์คในการทำกิจกรรมของโคราชจีโอพาร์ค ได้แกนนำครูจีโอพาร์คแคมป์ของโรงเรียนจีโอพาร์คในการจัดกิจกรรมหรือประสานการดำเนินงานจีโอพาร์คแคมป์กับสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และโคราชจีโอพาร์ค เกิดกิจกรรมอนุรักษ์ปกป้องหรือเรียนรู้แหล่งธรณีวิทยาและนิเวศวิทยาในโคราชจีโอพาร์ค พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชและมรดกโลกกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ตามแนวทางของยูเนสโก ซึ่งจะส่งผลดีหรือผลบวกสำหรับการประเมินเพื่อการจัดตั้งเป็นจีโอพาร์คประเทศหรือจีโอพาร์คโลก และจะเกิดโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของยูเนสโกขึ้นในจังหวัดนครราชสีมา และประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่ง 3 มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก” (The UNESCO Triple Crown of Nature) เป็นประเทศที่ 3 ของโลก
ข้อมูลโดย “ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)