วันสุนทรภู่

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 26 June 2020

เด็กชายภู่เกิดและโตอยู่ทางด้านเหนือของวังหลัง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อยในปัจจุบัน เล่ากันว่า มารดาเป็นแม่นมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในกรมพระราชวังหลัง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)

เด็กชายภู่โตอยู่ในวังหลัง และได้เรียนหนังสือกับพระในสำนักชีปะขาว (ปัจจุบันคือวัดศรีสุดาราม) ตามประเพณีของไทยที่ส่งลูกหลานเข้าไปเรียนหนังสือในวัด

ประวัติสุนทรภู่ช่วงก่อนรับราชการ

พ.ศ.2329 - 26 มิถุนายน (ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)
พ.ศ.2349 - นายภู่เดินทางไปหาบิดาที่เมืองแกลง จังหวัดระยอง จึงได้แต่ง นิราศเมืองแกลง
พ.ศ.2350 - นายภู่รับราชการเป็นมหาดเล็ก ในพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ ตามเสด็จไปบูชาพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ในวันมาฆบูชาปีนั้นจึงได้แต่งนิราศพระบาท
ประวัติสุนทรภู่ช่วงที่รับราชการในรัชกาลที่ 2 อยู่ 8 ปี

พ.ศ.2359 - เข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) นายภู่เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์
ได้รับตำแหน่งเป็น “ขุนสุนทรโวหาร” เพราะทดลองแต่งกลอนบทละครรามเกียรติ์ต่อจากพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ทรงพระกรุณาฯ ซึ่งเป็นช่วงที่สุนทรภู่มีชื่อเสียง มีชีวิตการงานที่รุ่งโรจน์

ได้รับเลื่อนเป็น “หลวงสุนทรโวหาร” ได้รับบ้านประจำตำแหน่งที่ท่าช้าง (อยู่ใกล้วังท่าพระ) มีหน้าที่คอยถวายความคิดเห็นเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์วรรณคดีต่างๆ ที่ได้เลื่อนขั้นเพราะแต่งบทกลอนตอนนางสีดาผูกคอตาย และศึกสิบขุนสินรถ บรรยายฉากรถศึกของทศกัณฐ์ได้ดี

พ.ศ.2367 - เป็นช่วงปลายรับราชการในรัชกาลที่ 2 คาดว่าสุนทรภู่แต่ง “สวัสดิรักษา” ระหว่างที่ถวายงานเป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2
ประวัติสุนทรภู่ช่วงที่บวชอยู่ 18 ปี

พ.ศ.2372 - ระหว่างเปลี่ยนรัชกาล สุนทรภู่บวชเป็นพระภิกษุและได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรเจ้าฟ้ากลาง คาดว่าระหว่างนั้นได้แต่งเรื่อง เพลงยาวถวายโอวาท และได้แต่งโคลงกลอนนิทานไว้มากมาย อาทิ พระอภัยมณี, ลักษณวงศ์, สิงหไตรภพ
พ.ศ.2385 - ก่อนลาสิกขา พบว่าพระสุนทรภู่ได้แต่ง รำพันพิลาป ซึ่งเป็นผลงานที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยในปี พ.ศ.2480 ในเกือบ 100 ปีถัดมา โดยพระยาราชสมบัติ (เอิบ บุรานนท์) เป็นผู้มอบต้นฉบับที่พบให้แก่หอสมุดแห่งชาติ นักประวัติศาสตร์สมัยนั้นจึงได้ทราบเป็นหลักฐานเรียงไทม์ไลน์ชีวประวัติของสุนทรภู่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
พ.ศ.2394 - เปลี่ยนรัชกาลอีกครั้ง พระสุนทรภู่ลาสิกขา รับราชการเป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุนทรโวหาร” ได้แต่งนิราศ 2 เรื่อง คือ นิราศเมืองเพชร และ นิราศพระประธม
บ้างก็ว่าบั้นปลายชีวิตสุนทรภู่อาศัยอยู่ในเขตพระราชวังเดิม ใกล้หอพระยามณเฑียรบาล (บัว) ถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ.2398 สิริอายุ 69 ปี แต่ข้อมูลจากสารานุกรมไทยฉบับเยาวชน ระบุว่า สุนทรภู่ซื้อบ้านอยู่ย่านธนบุรี และเสียชีวิตที่บ้านนี้เมื่ออายุ 80 ปีเศษ

ผลงานสุนทรภู่ที่โดดเด่น คือ “พระอภัยมณี”
บทกลอนนิทานเรื่องนี้ได้รับการยกย่องครั้งแรกจากวรรณคดีสโมสร ว่าเป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และเรื่องนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ และในปี พ.ศ.2529 สุนทรภู่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวรรณกรรม

ความโดดเด่นของ “พระอภัยมณี” แสดงให้เห็นว่าสุนทรภู่เป็นผู้ที่มีความสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่จากชาวต่างชาติที่เข้ามาเผยแพร่ในพระนครในสมัยนั้น คาดว่าสุนทรภู่จะพูดภาษาอังกฤษได้ และได้แลกเปลี่ยนความรู้กับชาวต่างชาติ ดังสังเกตเห็นได้จากตัวละครผู้หญิงที่ขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นเจ้าเมือง และมีสิทธิ์ตัดสินใจ แตกต่างจากสตรีไทยในยุคนั้น ที่จะต้องอยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน ไม่มีบทบาทขึ้นมาทำงานเทียบเท่าผู้ชายได้

ผลงานสุนทรภู่ทั้งหมด

นิราศ 9 เรื่อง ได้แก่

นิราศเมืองแกลง (พ.ศ.2349)
นิราศพระบาท (พ.ศ.2350)
นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ.2371)
นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ.2374)
นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ.2375)
นิราศอิเหนา (คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3)
รำพันพิลาป (พ.ศ.2385)
นิราศพระประธม (พ.ศ.2385)
นิราศเมืองเพชร (พ.ศ.2388)

นิทานกลอน 5 เรื่อง

โคบุตร
พระอภัยมณี
พระไชยสุริยา
ลักษณวงศ์
สิงหไกรภพ

สุภาษิต 3 เรื่อง

สวัสดิรักษา
เพลงยาวถวายโอวาท
สุภาษิตสอนหญิง

บทละคร 1 เรื่อง

อภัยนุราช
บทเสภา 2 เรื่อง

ขุนช้างขุนแผนตอนกำเนิดพลายงาม
เสภาพระราชพงศาวดาร

บทเห่กล่อมพระบรรทม 4 เรื่อง

เห่เรื่องพระอภัยมณี
เห่เรื่องโคบุตร
เห่เรื่องจับระบำ
เห่เรื่องกากี
ตามรอยรำลึกถึงสุนทรภู่ ได้ที่ไหนบ้าง
วันสุนทรภู่ 2563 นี้ถ้าอยากรำลึกถึงสุนทรภู่ หรือต้องการขอพรเรื่องการงาน การเรียน ก็สามารถเดินทางไปยังอนุสาวรีย์เมืองแกลงจังหวัดระยอง หรือใครอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ก็เดินทางไปยังวัดเทพธิดาราม

1. อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จ.ระยอง
2. วัดกระแสร์คูหาสวรรค์ จ.ระยอง
3. ถ้ำจัน จ.เพชรบุรี
4. รอยพระพุทธบาท จ.สระบุรี
5. พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่ วัดเทพธิดาราม กรุงเทพมหานคร

ที่มา : saranukromthai.or.th, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, พิพิธภัณฑ์สุนทรภู่

URL: 
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/1875356