สวทช. จัดระดมสมองการวิจัยในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (TCU)

ข่าวประจำวันที่: 
Sat 9 December 2017

สวทช. จัดระดมสมองการวิจัยในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (TCU)


          ณ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย - สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ จัดประชุมระดมสมอง เรื่อง “การวิจัยในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (TCU)” แก่คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานเครือข่ายโครงการ TCU จากทั่วประเทศ จำนวน 22 หน่วยงาน รวมกว่า 70 คน เพื่อร่วมกันหาแนวทางการทำวิจัยในโครงการฯ ที่จะช่วยส่งเสริมนักเรียนทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมี นางดวงสมร คล่องสารา ประธานคณะทำงานโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต้อนรับ และนางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการประชุมและแนวทางการทำวิจัยในโครงการ TCU


          กิจกรรมประชุมระดมสมองครั้งนี้ เริ่มต้นในช่วงเช้าได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านงานวิจัยมาให้ความรู้ จำนวน 2 ท่าน ประกอบด้วย รศ.ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ฝ่ายบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ “การวิจัยด้านการพัฒนากิจกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน” โดย ผศ.ดร.จรรยา ดาสา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในหัวข้อ “แนวทางการวิจัยและประเมินผลโครงการ”


  

          จากนั้นในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มระดมสมองออกเป็นการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อร่วมกันหาแนวทางการทำวิจัยในโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย โดยร่วมกันระดมสมองในประเด็นต่อไปนี้ ได้แก่ ความพร้อมและความสนใจในการทำวิจัยในโครงการ หัวข้อที่ควรวิจัย รูปแบบ และวิธีการวิจัย และผลที่คาดหวัง และปิดด้วยช่วงท้ายเปิดเวทีให้แต่ละกลุ่มสรุปข้อมูล เพื่อนำเสนอในการสรุปผลการประชุมระดมสมอง


          นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพัฒนาเยาวชนวิทยาศาสตร์ สวทช. อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการวิจัยเพื่อตอบเป้าหมายโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ประเทศไทย (TCU) สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะสั้นและระยะยาว โดยในการศึกษาวิจัยเพื่อตอบสนองเป้าหมายในระยะสั้น อาทิ การค้นหาต้นแบบกิจกรรมที่พัฒนาการเรียนรู้ได้ดี การออกแบบเครื่องมือวัด การประเมินเด็กรูปแบบไหน การเปลี่ยนทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่มีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ต้องมีปัจจัยอะไรบ้างจึงจะได้ผลตามที่เราคาดหวัง การนำกิจกรรมในหนังสือกิจกรรมครบรอบ 5 ปี เป็นกรอบวิจัยเริ่มต้น เช่น การประเมินสื่อการเรียนรู้การจัดกิจกรรม TCU และการสร้างบรรยากาศแบบไหนที่สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี เป็นต้น


  

          เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการวิจัยในโครงการ TCU ระยะสั้น คือ เพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้นักเรียนช่างสังเกต รู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในช่วงอายุที่สามารถเรียนรู้ได้สูงสุด และมีเจตคติที่ดีทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงเพื่อนำร่องการพัฒนาหลักสูตรและคู่มือกิจรรมเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์โดยใช้แนวทางการลงมือทำด้วยตนเอง (hands-on) และนำต้นแบบขยายผลสู่โรงเรียน

          ขณะที่ในการศึกษาวิจัยเพื่อตอบสนองเป้าหมายในระยะยาว อาทิ จะทำอย่างไรให้เด็กเรียนวิทยาศาสตร์เพิ่มมากขึ้น เด็กเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีเจตคติและจิตวิทยาศาสตร์ที่ดี ทิศทางรูปแบบดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน ตลอดจนแนวทางความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานภาคอุตสาหกรรม/เอกชน ทำการวิจัย โดยเก็บข้อมูลจาก ผู้บริหาร ผู้มีส่วนร่วม (partner) วิทยากร ผู้ปกครอง และเด็ก เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการวิจัยในโครงการ TCU ระยะยาว คือ เพื่อวางรากฐานระยะยาวในการเตรียมความพร้อมและสร้างนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรุ่นใหม่ ให้ประเทศไทยมีบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ รวมถึงมีรูปแบบบริหารจัดการโครงการส่งเสริมนักเรียนทางวิทยาศาสตร์ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11668-20171201-1-tcu
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.)