สวทช. นำนักวิชาการชั้นนำจากเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอดความรู้ “เทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์” สู่ผู้ประกอบการไทย

ข่าวประจำวันที่: 
Fri 21 July 2017

สวทช. นำนักวิชาการชั้นนำจากเนเธอร์แลนด์ถ่ายทอดความรู้ “เทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์” สู่ผู้ประกอบการไทย

          ณ โรงแรมแคนทารี่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่: สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร และโปรแกรมเมล็ดพันธุ์ คลัสเตอร์อาหารและเกษตร ร่วมกับสถานเอกอัคราชทูตไทย ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานสัมมนาวิชาการและการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์ โดยบริษัทภาคเอกชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

 

 

          นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นต้นแบบความรู้และนวัตกรรมการเกษตรในหลายด้าน รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์อันดับ 9 ของโลก และอันดับ 2 ในเอเชีย จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์และถอดบทเรียนจากความสำเร็จที่ทำให้เนเธอร์แลนด์ก้าวสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกเมล็ดพันธุ์อันดับ 1 ของโลก

 

 

          โดยมีวิทยากรที่เป็นนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากเนเธอร์แลนด์จำนวน 5 ท่าน จากสถาบันวิจัยและการศึกษาอันดับหนึ่งของโลกด้านเกษตรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอาหาร “Wageningen University & Research” หน่วยงานตรวจรับรองและควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ “Naktuinbouw” (The Netherlands Inspection Service for Horticulture) และองค์กรไม่แสวงกำไร “Access to Seeds Foundation” มาบรรยายให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี ประสบการณ์ และระเบียบปฏิบัติของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้ยังนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี การศึกษาวิจัย และการค้าระหว่างไทยและเนเธอร์แลนด์อีกด้วย

 

 

          “การสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานมาก โดยในวันแรกเป็นการบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน ทั้งในเรื่องโอกาสและความพร้อมของไทยในการเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์กับความต้องการอาหารในอนาคต สถานการณ์และเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ในเนเธอร์แลนด์ การใช้เทคโนโลยีโรงเรือนสำหรับการผลิตเมล็ดพันธุ์ รวมถึงกฎระเบียบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในเนเธอร์แลนด์ นอกจากนี้นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้ร่วมนำเสนองานวิจัยเทคโนโลยีเมล็ดพันธุ์และกฎระเบียบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ในไทยด้วย สำหรับในวันที่สองเป็นการฝึกภาคปฏิบัติและเรียนรู้การทดสอบเมล็ดพันธุ์เฉพาะกลุ่มที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีนักวิชาการจาก Wageningen University & Research ให้ความรู้และคำแนะนำอย่างใกล้ชิด” รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

          นายอิโด เวอร์ฮาเก้น ผู้อำนวยการสถาบัน Access to Seeds Foundation กล่าวว่า การที่เนเธอร์แลนด์เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของยุโรปและโลกนั้น เพราะมีระบบนิเวศเชิงพาณิชย์ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์จากทั้งภาครัฐและเอกชน มีความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ โดยใช้การค้าและการส่งออกเป็นเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาด้านการวิจัยและนวัตกรรม นอกจากนี้ด้วยรูปแบบบริษัทเมล็ดพันธุ์ผักของเนเธอร์แลนด์ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว จึงทำให้สามารถควบคุมทิศทางการทำธุรกิจได้ต่อเนื่องและส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นได้

 

 

          “ปัจจุบันประเทศผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์รายใหญ่จะเน้นเทคโนโลยีสำหรับเกษตรรายใหญ่เท่านั้น จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเน้นการผลิตให้กับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยที่เป็นผู้ผลิตในภาคการเกษตรและเป็นผู้ใช้เมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของประเทศที่เป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่ (emerging economies) ในแถบอเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตของประชากรและการบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นมาก โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ พื้นที่และความต้องการของเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบ การตรวจสอบและควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ทันสมัยและเป็นสากล

 

 

          เพื่อสร้างความเชื่อมั่นคุณภาพผลิตผลทางการเกษตรและเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ระบบโลจิสติกส์ และกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นประเทศไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้อีก แต่ไทยต้องเร่งพัฒนา เพราะในภูมิภาคนี้ยังมีประเทศอื่นที่มีศักยภาพเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือจีน” นายอิโด กล่าว

          การจัดงานสัมมนาวิชาการและการประชุมครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย บุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐ 46 คน (8 หน่วยงาน) ภาคเอกชน 88 คน (28 บริษัท) มหาวิทยาลัย 41 คน (9 มหาวิทยาลัย) และบุคคลทั่วไป 4 คน 

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11308-20170703
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พว.)