สวทช. อบรมครูเครือข่ายปทุมธานีแนะกิจกรรมสะเต็มที่เหมาะวัย ป. 3 เพื่อปรับใช้ในโรงเรียน

ข่าวประจำวันที่: 
Thu 21 December 2017

สวทช. อบรมครูเครือข่ายปทุมธานีแนะกิจกรรมสะเต็มที่เหมาะวัย ป. 3 เพื่อปรับใช้ในโรงเรียน

          ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี : กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “การนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในสถานศึกษา”



          ระหว่างวันที่ 12 - 13 ธันวาคม 2560 แก่คณะครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 45 ท่านจากโรงเรียนในโครงการ “การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง” เพื่อให้ครูได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์สำหรับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา และฝึกทักษะการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้โดยใช้วิธีสืบเสาะเพื่อนำไปใช้ในในโรงเรียนให้แก่ระดับประถมศึกษา โดยมี ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. ให้การต้อนรับและกล่าวเปิดงาน



          ดร.ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. เปิดเผยว่า งานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทภายใต้สายงานพัฒนากำลังคนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สวทช. ดำเนินการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับครูและนักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และอีกหนึ่งผลงานคือ โครงการ “การส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้กับโรงเรียนในอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ที่ได้รับการสนับสนุนจาก: มูลนิธินายห้างโรงปูนผู้หนึ่ง”


  


          ซึ่งเป็นงานที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับครูและนักเรียน ด้วยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะตามแนวคิดสะเต็มศึกษา ซึ่งโครงการจะส่งเสริมให้ครูผู้สอนจัดการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนแบบบูรณาการในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการให้นักเรียนได้ฝึกใช้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐานผ่านการจัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของนักเรียน ส่งเสริมให้ครูผู้สอนใช้คำถามแนวสร้างสรรค์เชื่อมโยงเข้าสู่กิจกรรมที่สนุกสนานเอื้อต่อการเรียนรู้ รวมทั้งกระตุ้นให้นักเรียนได้ใช้ทักษะกระบวนการคิด การตัดสินใจ การทำงานร่วมกัน ผ่านกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียน ตลอดจนช่วยให้นักเรียนมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งแวดล้อมรอบตัว นอกจากนี้ ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการติดอาวุธทางปัญญาให้เด็กระดับประถมศึกษาที่จะเป็นฐานรากที่สำคัญของประเทศต่อไป



          ดร.บัญชา แสนทวี ผู้จัดการงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบท กล่าวเสริมว่า การนำแนวคิดสะเต็มศึกษา (STEM Education) โดยผ่านการจัดกิจกรรมของโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศไทยเป็นอีกงานหนึ่งที่คณะทำงานงานวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนชนบทจัดขึ้นแก่ครูประถมศึกษา เพื่อให้ครูผู้เข้ารับการอบรมได้รับความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์สำหรับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา รวมทั้งได้รับการฝึกทักษะเกี่ยวกับการออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้วิธีการสืบเสาะเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ระดับประถมศึกษา โดยการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีระยะเวลาอบรม 2 วัน มีครูผู้เข้ารับการอบรมเป็นครูระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 45 คน จากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท จังหวัดปทุมธานี


  


          ด้านตัวแทนครูที่เข้าอบรมเชิงปฏิบัติการ “การนำแนวคิดสะเต็มศึกษาไปใช้ในสถานศึกษา” ให้ความเห็นต่อการเข้าร่วมกิจกรรมและนำไปปรับใช้กับโรงเรียนของคุณครู โดยครูท่านแรก นางขจัดภัย แก่นน้อย ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดมงคลพุการาม คลองสี่ เผยว่า ที่ได้มาอบรมในวันนี้ รู้สึกว่า กิจกรรมนี้เป็นโครงการที่ดีมาก ได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้เราได้จดจำ และบทเรียนที่เราได้มาฝึกในครั้งนี้ เราได้ความสนุกสนาน และเด็กได้ร่วมมือกันคิด ร่วมมือกันทำ และปรับปรุงแก้ไขชิ้นงานให้ออกมาได้ แล้วยังนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันเป็นของที่แยกกันไม่ออกอยู่แล้ว ขณะที่ครูท่านที่สอง น.ส.นันทพัทธ์ สุธาเรืองสิทธิ์ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 69 (คลองหลวง) มองว่า ข้อมูลที่ได้จากการอบรมสะเต็มในครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ว่า การสอนวิทยาศาสตร์กับการสอนสะเต็มแตกต่างกัน และสามารถนำไปปรับใช้ทำให้เด็กได้ทำงานกลุ่ม เรียนรู้การงานกลุ่ม และให้เด็กได้คิด สืบเสาะหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง ทั้งนี้ สิ่งที่ได้จากการอบรมจะนำไปขยายผลกับเพื่อนๆ ครูทุกคน เพราะสามารถไปปรับใช้กับการสอนได้ทุกชั้น ไม่ใช่เฉพาะ ป. 3 อย่างน้อยเด็กจะได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง การสอนสะเต็มเป็นการฝึกสอนให้เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การให้ความรู้เด็ก เด็กจะต้องสรุปความรู้มาได้ด้วยตัวของเด็กเอง เป็นองค์ความรู้ที่สำคัญที่จะติดตัวเด็กไปตลอด ขณะที่ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนวัดอู่ข้าว นางลัดดาวัลย์ บำรุงกิจ มองว่า ความรู้ที่ได้เป็นการค้นคว้าทดลองซึ่งจะนำไปสู่เด็ก ทำให้เด็กได้ค้นคว้าจากสิ่งที่ยังไม่รู้ไปเรื่องที่รู้ ติดตัวไป และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้


  


          และปิดท้ายด้วยคุณครู นายคมสัม กิมาลี ครูผู้ช่วย โรงเรียนจารุศรบำรุง ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรมคือ ได้ไอเดียใหม่ จากเดิมที่รู้เพียงว่า STEM คืออะไร แต่ไม่เคยได้เรียนรู้ว่าทำอย่างไร การมาได้ทำกิจกรรม ทำให้มีไอเดียหรือแนวความคิดที่จะไปทำต่อและลองไปจัดการเรียนการสอน ซึ่งบางครั้งเรามองไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่า STEM คืออะไร เพราะ S T E M ไม่ได้มีตัวแบบมาให้เรา แต่กิจกรรมครั้งนี้คือ มีตัวอย่างและแบบกิจกรรม ทำให้รู้ว่าสามารถไปปรับใช้ทำกิจกรรมที่เหมาะสมกับเนื้อหาแบบต่างๆ ได้อย่างไร เพราะจริงๆ แล้วการสอนที่ดีที่สุด คือ ให้เด็กลงมือปฏิบัติทำจริง เด็กจะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น พอได้ลองทำจริงๆ จะรู้ว่าต้องทำอย่างไร ผิดพลาดอะไร และกลับมาวางแผนใหม่ทุกครั้งจนได้เป็นผลงานออกมา ซึ่งทำให้เด็กภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และยังได้รู้ว่าเขาสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้ด้วย นอกจากนี้ยังสามารถที่จะนำไปกระบวนการนี้ไปปรับใช้ในการสอนเด็กได้ไม่ว่าจะเป็นวิชาใดก็ตาม

 

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/11698-20171221
แหล่งที่มา: 
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (พว.)