สุดอลัง “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” เหนือฟ้าดอยอินทนนท์

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 12 February 2018

สุดอลัง “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” เหนือฟ้าดอยอินทนนท์


          สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผยภาพ  “ทางช้างเผือกใต้แสงจันทร์” ช่วงต้นกุมภาพันธ์ เห็นใจกลางทางช้างเผือกสว่างชัดแม้แสงจันทร์รบกวน ชี้ชัดท้องฟ้าใสเคลียร์มากขึ้นหลังจับมือ กฟผ. เดินหน้าโครงการลดมลภาวะทางแสงที่ดอยอินทนนท์ 



          นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ภาพนี้บันทึกในช่วงเช้ามืด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 เวลาประมาณ 05:00 น. ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น มีดวงจันทร์แรม 10 ค่ำ ส่องแสงสว่างจ้าทางทิศตะวันออก เหนือบริเวณทางช้างเผือก ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวมีดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร และดาวเสาร์ปรากฏอยู่ใกล้กับทางช้างเผือกอีกด้วย จะสังเกตเห็นว่าแม้มีแสงจันทร์รบกวน แต่ทางช้างเผือกยังปรากฏชัดเจนมาก บอกได้ถึงระดับความมืดและความใสเคลียร์ของท้องฟ้า ชี้ให้เห็นว่าสภาพท้องฟ้าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ มีความมืดในระดับที่ค่อนข้างสูงมาก สามารถผลักดันสู่การเปลี่ยนดอยอินทนนท์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้การรับรองให้เป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (Dark Sky Certification) จากสมาคมอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association หรือ IDA) องค์กรระหว่างประเทศที่สร้างมาตรฐานท้องฟ้ามืดมิดจนเข้าถึงความงดงามของธรรมชาติ และหากได้การรับรองนี้ก็จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวยิ่งขึ้นไปอีก


          นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ สดร. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคี ดำเนินโครงการลดมลภาวะทางแสงในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ บริเวณแปลงปลูกดอกเบญจมาศ เขตพื้นที่บ้านขุนกลาง เปลี่ยนหลอดไฟให้เหมาะสมและสามารถบังคับทิศทางของแสงไม่ให้กระเจิงขึ้นฟ้า สร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงานและพัฒนาการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่างในเขตชุมชนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันให้อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ให้ความสำคัญเรื่องการจัดการมลภาวะทางแสง ขยายผลสู่การเป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล เพื่อประโยชน์ต่อระบบนิเวศ การสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ต่อไปในอนาคต


          สำหรับผู้ที่สนใจการถ่ายภาพใจกลางทางช้างเผือก ช่วงต้นปีนี้สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงเวลาตี 4.30 เป็นต้นไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย แนวทางช้างเผือกจะโผล่พ้นขอบฟ้าในแนวขนานกับขอบฟ้า บริเวณใกล้กับกลุ่มดาวแมงป่องและกลุ่มดาวคนยิงธนู หากผู้เริ่มต้นถ่ายภาพ ขอแนะนำเริ่มถ่ายภาพตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 นี้เป็นต้นไป นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย


        ติดตามข้อมูลการถ่ายภาพทางช้างเผือกเพิ่มเติมที่ http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3504-narit-milky-way-2018


URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3505-narit-milky-way-2018-picture
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่ชาติ (สดร.)