อีกก้าวหนึ่งของการตามล่าหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 6 November 2017

อีกก้าวหนึ่งของการตามล่าหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ

          เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2560 นาซาประกาศความคืบหน้าของค้นหาดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ ตามข่าวที่ได้มีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้ (http://www.narit.or.th/…/nso…/2399-giant-planet-solar-system และ http://www.narit.or.th/inde…/nso-news/2492-planet-9-simulate

 

ภาพจำลองดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ในระบบสุริยะ
Credit: ESO/Tom Ruen/nagualdesign

 

          ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวเคราะห์ดวงที่ 9 จะมีมวลมากกว่า 10 เท่าของโลก และมีระยะห่างมากกว่า 20 เท่าของระยะทางระหว่างดาวเนปจูนกับดวงอาทิตย์ แต่เนื่องจากดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์มาก ทำให้นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถที่จะสังเกตการณ์ดาวเคราะห์ดังกล่าวได้ ทำได้เพียงศึกษาผลกระทบของแรงโน้มถ่วงต่อวงโคจรของวัตถุในแถบเข็มขัดไคเปอร์เท่านั้น

 

          จากการศึกษาก่อนหน้านี้ พบว่าจากสังเกตการณ์วัตถุจำนวน 6 วัตถุในแถบเข็มขัดไคเปอร์ วงโคจรของวัตถุทั้ง 6 มีความรีวงโจรไปในทิศทางเดียวกัน และวัตถุดังกล่าวมีความเอียงวงโจรทำมุมประมาณ 30 องศาจากระนาบวงโคจรของโลก แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 และหลังจากการประกาศดังกล่าวนักดาราศาสตร์ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์ดวงที่ 9 เพิ่มเติม

 

          ปัจจุบัน นักดาราศาสตร์พบว่าการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 อาจอธิบายการที่ระนาบวงโคจรของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมีความเอียง 6 องศาจากเส้นศูนย์สูตรของดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่นักดาราศาสตร์ได้มีการค้นหาคำตอบมาเป็นเวลานาน และนอกจากนี้จากการศึกษากระจายตัวของวัตถุนอกวงโคจรดาวเนปจูนใหม่มากกว่า 800 วัตถุ ยังสอดคล้องกับสมมติฐานของการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนข้อมูลเพื่อยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดังกล่าว

 

        นับจากนี้ นักดาราศาสตร์จะยังคงพยายามค้นหาดาวเคราะห์ที่ 9 ต่อไป ด้วยการใช้กล้องโทรทรรศน์ Subaru ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตอันใกล้เราจะสามารถยืนยันการมีอยู่ของดาวเคราะห์ดวงที่ 9 ได้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป...

 

URL: 
http://www.narit.or.th/index.php/pr-news/3412-new-evidence-planet-nine
แหล่งที่มา: 
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)