เจาะเทรนด์อาหารโลกมาแรง FOOD ENTREPRENEUR ต้องรู้

ข่าวประจำวันที่: 
Wed 15 September 2021

เจาะเทรนด์อาหารโลกมาแรง FOOD ENTREPRENEUR ต้องรู้

เจาะเทรนด์อาหารโลกมาแรง FOOD ENTREPRENEUR ต้องรู้

โลกเปลี่ยน พฤติกรรมคนเปลี่ยน อาหารการกินก็ต้องเปลี่ยนตาม

ปัญหาที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด ไปจนถึงภาวะสังคมสูงวัย ล้วนมีความเกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้คนเห็นคุณค่าและตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ ความเป็นอยู่ของผู้คนและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แม้แต่เรื่องอาหารก็ต้องเกิดประโยชน์สูงสุด ความอร่อยอย่างเดียวอาจไม่พอ

“เทรนด์อาหารยุคใหม่” จึงมีความจำเป็นต้องใส่ใจเรื่องของสุขภาพของคน การผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสะท้อนด้านความยั่งยืนในหลายมิติ แต่การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยทั้งการปรับตัวของผู้ประกอบการและผู้บริโภคไปพร้อมๆ กัน เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเราไม่สามารถแก้ไขโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้

ส่วนเทรนด์ไหนที่กำลังมาแรงในปัจจุบันและสามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจได้จริง NIA ได้รวบมาให้ทุกคนได้อ่านแล้วด้านล่างนี้เลย

ยุคของ “Plant-based” และ “Non-Dairy”

ไก่ป็อป Plant-based ก็มา เบอร์เกอร์ Plant-based ก็มี!

กระแสของ “Plant-based Meat” เกินต้านจริงๆ ด้วยมูลค่าตลาดทั่วโลกที่มีการเติบโตขึ้นทุกปีกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ผู้ประกอบการด้านอาหารทั้งเล็กและใหญ่เห็นโอกาส จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมากันอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ไข่ Plant-based ก็ยังมีให้เห็น สำหรับในประเทศไทยคนก็เริ่มคุ้นชินกับอาหารรูปแบบนี้มากขึ้น เพราะแฟรนไชส์ร้านอาหารเจ้าดังก็ยังมีเมนู Plant-based ให้ได้เลือกกิน จากเดิมที่มีผู้เล่นในตลาดไม่กี่ราย ก็ได้เห็นการแข่งขันที่มากขึ้น ราคาเริ่มจับต้องได้

และไม่ใช่แค่เนื้อ Plant-based Meat ที่เติบโต เครื่องดื่มประเภท Non-Dairy หรือ Plant-based Milk ก็มีมูลค่าตลาดทั่วโลกหลักพันล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นเดียวกัน โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็คือ นมอัลมอนด์

การเติบโตของ Plant-based จึงไม่ได้มาเล่นๆ แต่ยังแฝงไปด้วยโอกาสมากมาย แถมให้คุณค่าด้านโภชนาการที่ดีแก่ผู้บริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มาจากฟาร์มปศุสัตว์

“Personalized Nutrition” คุณค่าโภชนาการแบบเฉพาะ

อาหารที่ดีคืออาหารที่ให้ประโยชน์สำหรับ “คุณ”

ปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับการสร้างและรักษาสุขภาวะ (well-being) ผ่านการกินมากขึ้น และเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกายมากกว่าในอดีต อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่สามารถติดตามหรือตรวจสอบสภาวะของร่างกายได้อย่างแม่นยำ การออกแบบอาหารให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลจึงทำได้ง่ายขึ้น เช่น ออกแบบตาม DNA ออกแบบตามลักษณะจุลินทรีย์ในลำไส้ (Gut Microbiome) เป็นต้น

อีกทั้งวิกฤตโควิดยังเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนใส่ใจคุณค่าด้านโภชนาการมากขึ้น ด้วยมุมมองที่ว่า อาหารไม่ใช่แค่เพียงแหล่งพลังงาน แต่ยังเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อร่างกาย (Nutraceutical Food) หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า อาหารก็คือยา ส่วนนี้ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้พฤติกรรมการกินของคนเปลี่ยนไปจากเดิม

แต่คนก็มีปัญหาทางด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน การรังสรรค์ผลิตภัณฑ์จึงต้องมีความเฉพาะตัวมากขึ้น ให้คุณค่าทางโภชนาการในรูปแบบที่แตกต่างกันไป และพร้อมโฟกัสลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้นให้อยู่หมัด

“Hyperlocal” ฟื้นอาหารท้องถิ่นให้มีชีวิต

เติบโตไปด้วยกันด้วยรสชาติแบบท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์

Hyperlocal เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่มีความน่าสนใจและกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่แค่การเลือกกินเมนูท้องถิ่น แต่ทุกกระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นการสนับสนุนชุมชนให้มีรายได้อย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ หลากหลายชุมชนในประเทศไทย ผู้สูงอายุในต่างจังหวัดก็ไม่ได้มีรายได้ที่เป็นหลักเป็นแหล่ง สินค้าทางการเกษตรราคาไม่ดี หลากหลายผลิตภัณฑ์ด้านวัฒนธรรม เช่น อาหารท้องถิ่น ก็มีคนทำได้น้อยลงทุกที หากผู้ประกอบการรุ่นใหม่คนไหนพร้อมทำงานร่วมกับชุมชน ทั้งในด้านวัตถุดิบหรือการสานต่อเมนูจากชุมชนที่คนมองไม่เห็นให้ฉายแสงขึ้นมาได้ ก็เป็นหมุดหมายที่ดีต่อวงการอาหารไทยต่อไป

ผลิตแบบ “Sustainability”

ความยั่งยืนคือกุญแจสู่ความอยู่รอดในระยะยาวของธุรกิจด้านอาหาร

ปัจจุบันผู้บริโภค ไม่ได้มองแค่สินค้าที่มีคุณภาพเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงกระบวนการผลิตและวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ให้คุณค่าต่อ เรื่องสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือสังคม และมีธรรมมาภิบาลมากขึ้น ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ทุกคนให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งประกอบกับปัญหาจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาอาหารไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค

กระบวนการผลิตจึงต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการสร้างขยะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงไม่เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรและแรงงาน ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผู้ประกอบการต้องหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดนี้ และนำไปปฏิบัติจริง มิเช่นนั้น จะไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป

ความยั่งยืนเลยเป็นวาระที่ไม่ใช่แค่เทรนด์ที่ผ่านเข้ามาแล้วผ่านไป แต่เป็นการร่วมด้วยช่วยกันในระยะยาว เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตรวมถึงในปัจจุบัน

จากเทรนด์ทั้งหมดที่เราหยิบยกมาให้ทุกคนได้อ่านจะเห็นได้ว่า อาหารสร้างผลกระทบกับผู้คนมากกว่าที่คิด และทุกปัญหาพร้อมมีทางออกให้เราแก้ไข แต่เมื่อมันเป็นภาพใหญ่ระดับสังคม ทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคก็ต้องร่วมผลักดันให้มันเกิด เพื่อสร้างวิถีการกินที่เกิดประโยชน์แก่ทุกคนอย่างแท้จริง

URL: 
https://www.nia.or.th/FoodTrend2021