เด็กไทยเจ๋ง รวมทีมส่งงานวิจัยเข้าร่วมการแข่งขันไอเดียการทดลองในอวกาศระดับโลก

ข่าวประจำวันที่: 
Mon 16 December 2019

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมสนับสนุนเยาวชนไทยต่อยอดกิจกรรม Space Experiment Ideas Contest 2019 หรือ SEIC เข้าร่วมการแข่งขัน The Mission Idea Contest หรือ MIC ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. 62 ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 62 ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กิจกรรม MIC จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 เพื่อเปิดโอกาสในการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ด้านการทดลองในอวกาศระดับสากล โดยเป้าหมายหลักของ MIC คือการเปิดประตูสู่มุมมองใหม่ของการสำรวจอวกาศและการใช้ประโยชน์จากอวกาศในปี 2562 มีทีมที่ผ่านการตัดเลือกการแข่งขันจากทั่วโลก ทั้งหมดจำนวน 6 ทีม ซึ่ง 1 ในนั้นมีทีมจากประเทศไทยด้วย โดยเสนอไอเดียงานวิจัย “Technology Demonstrate of Bone-Loss-Reducing Bacteria Culture for Deep Space” มีวัตถุประสงค์ (1) ใช้ผลการทดลองที่ได้มาพัฒนา Lactobacillus reuteri ให้กลายเป็น Probiotic Food เพื่อใช้กับนักบินในอวกาศ,กลุ่มผู้ สูงอายุ และสตรีวัยหมดประจำเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากกว่าบุคคลอื่น (2) เพื่อนำผลการทดลองมาศึกษาต่อเรื่อง ผลของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง (Microgravity) และคลื่นรังสีต่างๆ (Radiated Condition) ต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย (3) เพื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของแบคทีเรียที่เลี้ยงในอวกาศโดยอาหารเหลว (Broth Medium) และวุ้นเลี้ยงเชื้อ (Agar Medium) และ (4) เพื่อนำผลการทดลองไปพัฒนาวิธีการเลี้ยงแบคทีเรียในอวกาศ

โดยตัวแทนเยาวชนไทยที่นำเสนอไอเดีย คือ นายวัชรินทร์ อันเวช นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล (ชนะเลิศอันดับที่ 3 จากกิจกรรม SEIC 2019) และ คุณจุลินทิพย์ พุทธวงศ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ชนะเลิศอันดับที่ 1 จากกิจกรรม SEIC 2019) ซึ่งทั้งคู่ได้ทำหน้าที่ตัวแทนคนไทยอย่างเต็มที่ และได้พิสูจน์ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก

สำหรับผลการตัดสินปรากฏว่า

- ทีมชนะเลิศลำดับที่ 1 ผลงาน “MUSA: An ISS Experiment for research of a dual culture for Panama Disease” จาก สถาบันเทคโนโลยีคอสตาริกา สาธารณรัฐคอสตาริกา

- รางวัล Student Prize ได้แก่ ผลงาน “MARGE Melanoma Apoptosis Reduced Gravity Experiment” จาก มหาวิทยาลัย Sapienza ประเทศอิตาลี

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับรางวัลใด ในการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ แต่ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจและการทำงานร่วมกันของคนไทยด้านอวกาศ และเป็นอีกก้าวหนึ่งของคนไทยที่ทำให้เห็นถึงความตระหนักในการใช้ประโยชน์จากอวกาศ เพื่อนำมาพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

เผยแพร่ข่าว : นางสาวพรนภา สวัสดี
ส่วนสื่อสารองค์กร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3728 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
Facebook : @MHESIThailand
Call Center โทร.1313

URL: 
https://www.mhesi.go.th/home/index.php/pr/news/717-2019-12-13-09-22-22