เทคโนโลยีปลูกเมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน

ข่าวประจำวันที่: 
Tue 2 June 2020

สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด พัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกเมลอน 4 สายพันธุ์ในโรงเรือนอัจฉริยะ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกร ยกระดับการทำเกษตรกรรม

นางสาววิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ สวทช. ในฐานะผู้อำนวยการ สท. เผยว่า การร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกเมลอนในโรงเรือนอัจฉริยะครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาปัจจัยที่เหมาะสมต่อการเติบโตของต้นเมลอน 4 สายพันธุ์ ที่ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์และองค์ความรู้เทคโนโลยีทางการเกษตรในการเพาะปลูกจาก บริษัท นาวิตาฟู้ดส์ จำกัด ตั้งแต่เริ่มเพาะปลูกจนเก็บเกี่ยว (Crop requirement) รวมถึงการปรับโรงเรือนและการตั้งค่าเซนเซอร์ให้สอดรับกับความต้องการของพืช เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรต่อไป ทั้งนี้ได้ทำการทดลองปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ “SMART Greenhouse Knockdown Double Roof GH-1” ที่ สท. พัฒนาขึ้น

“การทำงานของโรงเรือนอัจฉริยะนี้จะควบคุมการเพาะปลูกด้วยเซนเซอร์ 4 ตัว คือ เซนเซอร์วัดความเข้มแสง ควบคุมการทำงานของม่านพรางแสง เซนเซอร์วัดความชื้นดิน ควบคุมการทำงานของระบบน้ำหยด เซนเซอร์วัดความชื้นอากาศ ควบคุมการทำงานของระบบพ่นหมอก และเซนเซอร์วัดอุณหภูมิ ควบคุมการทำงานของพัดลมใต้หลังคา โดยเซนเซอร์ทั้งหมดนี้สามารถแสดงผล แจ้งเตือน และควบคุมการทำงานผ่าน Smart phone และ Web base ด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things)”

นายสุวิทย์​ ไตรโชค ผู้ก่อตั้ง บริษัท นาวิต้าฟู้ดส์ จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเกษตร เสริมว่า เมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ ที่บริษัทให้การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์เพื่อทำการพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะครั้งนี้ เป็นสายพันธุ์ที่ผ่านการทดลองและคัดเลือกมาเป็นอย่างดี โดยบริษัทมีใบรับรองคุณภาพในการทำการเกษตรจาก Central Lab และกรมวิชาการเกษตร

“เมลอน 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วย พันธุ์เพิร์ลเมลอนเนื้อสีส้ม (Orange Pearl Melon) เพิร์ล
เมลอนเนื้อสีเขียว (Green Pearl Melon) กาเลียเมลอน (Japanese Galia Melon) และเมลอนสีทอง (Golden Dragon Melon) ซึ่งแต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและเนื้อสัมผัสที่โดดเด่นแตกต่างกัน และทั้ง 4 สายพันธุ์ ผ่านการคัดเลือกมาแล้วว่าเหมาะสมแก่การปลูกในสภาพแวดล้อมประเทศไทย

การทดลองเพาะปลูกเมลอนทั้ง 4 สายพันธุ์ในโรงเรือนอัจฉริยะ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีทั้งปริมาณผลผลิตและคุณภาพความหวานเมลอนเป็นไปตามความต้องการของตลาด จุดเด่นของการเพาะปลูกในโรงเรือนอัจฉริยะ คือ ความสะดวกในการดูแล และสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก รวมถึงลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากแมลงและฝน โดยองค์ความรู้ที่ได้จากการทดลองนี้จะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในการยกระดับการเพาะปลูกของตน เพื่อให้มีผลประกอบการที่สูงขึ้น มีความเสี่ยงในการทำการเกษตรลดลง นำไปสู่ความยั่งยืน”

ทั้งนี้ผลผลิตเมลอน จากการทดลองการปลูกในครั้งนี้ ได้นำไปส่งมอบให้แก่บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อสู้กับวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ เป็นตัวแทนรับมอบ

///////////////

ผู้เรียบเรียงและกราฟิก: นางสาวภัทรา สัปปินันทน์ ฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช.

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นเพื่อศึกษาวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร
หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป

URL: 
https://www.nstda.or.th/th/news/13251-melon